อยู่กับตัวเองมากเกินไป ดีหรือแย่แค่ไหน ทำอย่างไรถึงจะพอดี
ปี 2020 ที่ยังไม่ผ่านไปนี้ คงเป็นปีที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลา อยู่กับตัวเองมากเกินไป กว่าที่เคยเกิดขึ้นในปีไหนในชีวิต ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ที่ไม่มีประเทศไหนในโลกหนีพ้น ทำให้คนต้องสร้างระยะห่างระหว่างกันอย่างไม่เต็มใจ
เราต่างต้องขังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ในห้อง ทำงานที่บ้าน กินอาหาร ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่แคบกว่าปกติ พูดคุยแต่กับคนในพื้นที่เดียวกัน สัมผัสให้น้อยลง บางคนที่อยู่ห่างไกลเหลือเกินจากครอบครัวจะต้องรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างมากที่สุด เราปลอบใจตัวเองกันว่า “ก็ดีเหมือนกัน ได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดอะไร ได้ทำอะไรที่อยากทำ” แต่จนถึงจุดหนึ่งคนบางคนกลับพบว่า เรากำลัง อยู่กับตัวเองมากเกินไป และสิ่งนี้กำลังทำให้ชีวิตกำลังดิ่งลง
สำรวจตัวเองเรา อยู่กับตัวเองมากไป รึเปล่า?
แน่นอนว่าช่วงที่ผ่านมาเราทุกคนได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น แต่มากไปไหม? ไม่แน่ใจเหมือนกัน แค่บางทีก็มีช่วงเวลาที่เหงาๆ คิดอะไรไม่ตก จนกลัวว่าจะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เราลองมาเช็คก่อนดีกว่าว่าช่วงเวลาดีๆ ที่มีแค่เรา มันมากเกินไปจนไม่เป็นผลดีแล้วหรือยัง
รู้สึกอึดอัดใจที่ต้องกลับไปใช้ชีวิตกับคนส่วนใหญ่
หลังจากที่ใช้เวลาอยู่กับตัวเองมาสักพัก เราอาจจะพบหรืออาจจะคิดไปเองว่า เราอยู่คนเดียวได้ และมันก็ดีจะตาย ได้ใช้เวลาทบทวนอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งที่บางอย่างเราทบทวนวนไปวนมาไม่ได้ไปไหนไกล พอถึงเวลาที่คนอื่นๆ เริ่มออกไปใช้ชีวิตปกติกัน เรากลับรู้สึกไม่ได้อยากกลับเข้าไปในชีวิตที่มีใครต่อใครผ่านไปผ่านมา กลับกลายเป็นว่าถ้ายกเลิกนัดโดยที่ไม่รู้สึกผิดได้ก็จะทำ แต่ถ้ายกเลิกไม่ได้ ก็จะไปแต่รู้สึกกังวลใจตั้งแต่ 2-3 วันล่วงหน้าแล้ว
เริ่มปล่อยตัว
ก็เพราะไม่ได้ไปไหน อยู่แต่ในบ้าน เราจะต้องแต่งหน้าแต่งตัวไปทำไม ช่วงแรกๆ ทำเพื่อบิ้วตัวเองให้รู้สึกเหมือนต้องลุกขึ้นมาทำงาน ทำอะไรสักอย่าง แต่หลังๆ เรารู้สึกว่าเสียเวลา เสื้อผ้าก็ต้องซักต้องรีด ไม่อยากให้มันเก่าทั้งๆ ที่เราใส่แค่อยู่ในบ้าน ก็เลยเริ่มทำตัวเดิมๆ น่าเบื่อและที่สำคัญคือเราไม่รู้ตัวซ้ำว่าเรากำลังเบื่อตัวเอง
หมกมุ่นอยู่กับความเครียด
ไม่แปลกที่คนเราจะหมกมุ่นอยู่อะไรบางอย่างในแต่ละวัน และก็ไม่แปลกที่ก่อนจะหมดวันเราจะมานั่งรีวิววันกับตัวเอง ทำอะไรผิดไปบ้าง ทำอะไรสำเร็จไปบ้าง มีความสุขกับสิ่งไหนบ้าง แต่ถ้าเราอยู่กับตัวเองมากๆ มันจะมีแต่ด้านลบโผล่ขึ้นมาในช่วงของการรีวิว แล้วเราก็จะมุ่งมั่นแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยความเครียด ขุดความคิดให้ลึกลงไป เริ่มสะท้อนภาพตัวเองในอดีต เพื่อค้นหาต้นตอของปัญหา แม้ว่าความจริงคนอื่นจะพบคำตอบง่ายๆ ว่า เราอยู่คนเดียวนานเกินไป
ความนับถือตัวเองค่อยๆ ลดลง
เมื่อเราลืมไปแล้วว่าเมื่อไหร่คือครั้งสุดท้ายที่รู้สึกดี นี่เป็นสัญญาณที่แย่ละ เพราะเรากำลังคิดเยอะไปจนไม่มีเวลามารู้สึกดีกับชีวิต คนสมัยนี้มีน้อยคนนักที่จะ ‘ใช้เวลากับตัวเองจริงๆ’ เพราะส่วนใหญ่พวกเขาใช้เวลากับโลกออนไลน์ต่างหาก กังวล จิตตก หมกมุ่น และหมดความมั่นใจจากการเปรียบเทียบชีวิตด้านดีของเขากับด้านแย่ของเรา ซึ่งสเต็ปนี้จะนำไปสู่ข้อต่อไปก็คือ
โหยหาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง แม้จะ อยู่กับตัวเองมากเกินไป
ด้วยการตั้งคำถามตลอดเวลาว่า “จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร” “อะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดี” “สุดท้ายแล้วเราทำไปเพื่ออะไร” “แล้วใครจะเข้าใจเราได้จริงๆ” เหล่านี้คือคำถามที่ตอบไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าเราต้องการคำตอบเพื่อบอกกับตัวเองว่า เราได้เข้าใจชีวิตแล้วจริงๆ และก็ไม่ได้อยากจะคบกับเพื่อนคนไหนผ่านๆ เมื่อได้ใช้เวลากับเพื่อนเมื่อไหร่ ก็จะรู้ได้ในทันทีว่า เรากับเพื่อนคนนี้เข้าใจและให้ความสำคัญกับสิ่งเดียวในชีวิตเหมือนกันหรือเปล่า และถ้าคำตอบคือไม่ จะทำให้รู้สึกว่า นอนอยู่บ้านคุยกับตัวเอง สบายใจกว่าเยอะ
เราอาจจะไม่คิดเลยว่าบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนี้เป็นผลมาจากการที่เราใช้เวลาอยู่ลำพังกับตัวเองมากเกินไป แม้จะในบ้านที่มีคนอื่นอาศัยอยู่ด้วยกันก็ตาม จนกลายเป็นว่าเราไม่ชอบสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ยังไม่สาย เราเปลี่ยนสิ่งนี้ได้ และยังมีเวลาให้กับตัวเองเหมือนเดิม
ฉันควรทำอย่างไร เมื่อถูกวินิจฉัยว่า อยู่กับตัวเองมากเกินไป
เพราะเราทุกคนต้องการ ‘ใช้ชีวิต’ ให้ปกติที่สุด การบาลานซ์เวลาให้เหมาะกับตัวเราไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ดีมาตั้งแต่เกิด พวกเราก็ต้องฝึกมันด้วยกันทั้งนั้น เมื่อบาลานซ์เสียไปก็สร้างมันใหม่ ปรับให้เข้ากับคนอื่นได้แบบไม่หนักใจ แต่ก็ยังได้ชาร์จพลังอย่างสงบด้วยตัวเอง
ถ้า อยู่กับคนเดียวมากเกินไป ก็ลองหัดอยู่คนเดียวให้ได้จริงๆ
เพราะที่ผ่านมาเชื่อเถอะว่าเธอไม่ได้อยู่กับตัวเองมากขนาดนั้นซะหน่อย เพียงแต่เธอคิดว่าการสไลด์มือถือไปเรื่อยๆ ทั้งวันและคิดนั่นโน่นนี่อยู่ในหัว มันเป็นการอยู่กับตัวเองที่มากเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงคือเธอแค่คิดคนเดียวท่ามกลางล้านเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัว เธอรับรู้ทุกอย่าง ตอบรับกับทุกสิ่ง และผลักชีวิตจริงให้ออกไปไกลตัว ลองกลับมาอยู่กับตัวเองจริงๆ ดูสิ ปิดหรือวางโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ไปให้ไกลในเวลาที่ไม่ได้ทำงาน แบ่งเวลาให้ได้ อยู่ในโซเชียล 10 ชั่วโมงต่อหนึ่งวันก็นานเกินไปแล้ว
แล้วใช้เวลากับหนังสือ หมาแมว ทำกับข้าว แล้วจะพบว่า การอยู่คนเดียว มันไม่ได้ทำร้ายเราได้ กลับมีผลดีซะอีก
ฝืนออกไปใช้เวลากับผู้คนอย่างน้อย 1 ครั้งในอาทิตย์
ในเมื่อเราชอบโซเชียลเน็ตเวิร์คขนาดนั้น ก็ลองเผชิญหน้ากับผู้คนตัวเป็นๆ ดูบ้าง แค่หนึ่งครั้งในอาทิตย์ ชวนใครสักคนที่สนิทกับเรามากๆ ออกไปบาร์ที่คุ้นเคย หรือไปทำกิจกรรมใกล้หรือในจังหวัด ไม่ต้องคิดถึงเป้าหมายความสำเร็จ ปล่อยให้เวลาผ่านไป คุยอะไรไร้สาระด้วยกัน หัดกดสวิตช์แบ่งเรื่องต่างๆ ในชีวิตให้ได้ เราจะได้ใช้มันอย่างคุ้มค่า
แนะนำชาวกรุงเทพฯ ไปเดินดูงานนิทรรศการดีๆ ที่จะจัดแสดงจนถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ Andy Warhol : POP ART ก็เป็นจุดสตาร์ทที่ดีให้เราได้ออกไปผ่อนคลายนอกบ้านบ้าง
ลุกขึ้นมา ปรนเปรอตัวเอง เมื่อ อยู่กับตัวเองมากเกินไป
อย่าอยู่อย่างเฉาๆ แค่เพราะว่า ‘วันนี้ไม่ได้ต้องไปไหน’ เราจะใส่เสื้อยืดตัวเก่านั้นซ้ำทุกวัน แค่เพราะไม่อยากให้ชุดโปรดต้องเก่าจริงๆ หรอ เรามีเสื้อผ้าเต็มตู้ เครื่องสำอางเต็มโต๊ะ ใช้มันให้คุ้ม แต่งตัวสวยแบบที่พอใช้ชีวิตได้ แต่งหน้าไม่ต้องหนามาก เพราะผิวก็ยังอยากหายใจ แต่เติมสีสันสดใสให้กับชีวิตบ้างเถอะ! มันไม่ได้ดีแค่กับตัวเรา แต่กับคนที่อยู่ใกล้ชิดก็จะรู้สึกถึงความชีวิตชีวานี้ไปด้วยเหมือนกัน รู้ไหมว่าเวลาที่เราหม่นหมอง คนที่เขาใส่ใจ เขาสังเกตได้นะ ใส่ความสนุกลงไปไม่ต้องเยอะ เราจะรู้สึกได้เลยว่ามันเปลี่ยนไป
ความรู้สึกของคนที่ถูกวินิจฉัยจากคนรอบข้างว่า อยู่กับตัวเองมากเกินไป ไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีใจอะไรอย่างนั้นเลย แต่ความเศร้ากลับเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลที่คิดว่า ดันมันใครสังเกตเห็นมันทั้งที่ซ่อนเอาไว้อย่างดีแล้ว ปัญหาที่ไม่คิดว่าเป็นปัญหากลับชัดเจนขึ้นมาจนกลายเป็นอีกปัญหาที่เราต้องแก้ แต่บางครั้งการแค่เปลี่ยนอะไรเล็กๆ ในชีวิต สลับกระดุมที่กลัดเอาไว้ผิด เสื้อก็กลับดูเป็นทรงสวยขึ้นมาเฉยเลย ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง เจอคนที่เรารัก และให้เวลาตัวเองอย่างแท้จริง เหล่านี้เรียกมันสั้นๆ ได้ว่า รักและให้เกียรติตัวตนของเรา อย่างง่ายดายและยั่งยืนที่สุดแล้ว หากทำได้ อะไรในชีวิต ก็ไม่ยาก