เครียด ประจำเดือนไม่มา ปัญหาเรื้อรังของสาวออฟฟิศ
เครียด เครียด เครียด ความเครียด คือ ปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลต่อประจำเดือนเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้คงมีผลกระทบในชีวิตของผู้หญิงทุกคนไม่มากก็น้อย เพราะเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ตั้งแต่ first jobber ไปจนถึง manager คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่างๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ความเครียดจะมาเคาะประตู บางคนก็เผลอเปิดรับอย่างไม่รู้ตัว หรือบางคนก็รู้แต่แก้ปัญหาไม่ได้ วันนี้เรามีทางออก และจะมาอธิบายเรื่องราวนี้ให้กระจ่างมากขึ้นในแบบวิทยาศาสตร์นิดๆ ชาวบ้านหน่อยๆ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น
เครียด หรือ ความเครียด.. สาวๆ หลายคนอาจเคยประสบเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน เป็นปัญหาสุขภาพ ที่พบบ่อยมากในผู้หญิงยุคนี้ หากไม่ปวดท้องประจำเดือนอย่างหนัก ก็ประจำเดือนมาเคลื่อนไปบ้าง หรือไม่ก็หายไปเลย 1-2 เดือน อาการที่ประจำเดือนมาไม่ตรงนี้ เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘ภาวะประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด’ แต่บางคนเกิด ‘ภาวะประจำเดือนขาด’ เลเวลอัพกว่ามาช้า นั่นคือประจำเดือนจะหายไปถึง 3-6 เดือน หายไปจนลืมไปแล้วว่าผ้าอนามัยคืออะไร?! ซึ่งสาเหตุล้วนเกิดได้จากหลายปัจจัยมากมาย แต่ตัวการหลัก มักมาจากระบบร่างกายที่ผิดเพี้ยนไป จึงส่งผลต่อรอบเดือนมาแปลกๆ ให้สาวๆ เป็นกังวลกัน
ถึงแม้ว่าความว้าวุ่นใจนี้ ทำให้สาวๆ กุมขมับกันมานักต่อนัก เพราะว่าเลื่อนเก่ง เลื่อนบ่อย เลื่อนไปไกลกว่าแฟนหนุ่มเทนัดเดท แต่สัญญาณสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม ของแต่ละคนก็แสดงออกมาไม่เหมือนกัน บางคนมาเดือนเว้น 3 เดือน บางคนหายไป 6 เดือน บางคนหายไปเป็นปีก็มี แพทย์สันนิษธานว่า เกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างภาวะโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากก็ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนต่างๆในร่างกายหลั่งผิดที่ผิดทาง เป็นผลทำให้ประจำเดือนขาดช่วงได้เหมือนกัน หรือการทานยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานๆ ฮอร์โมนในยาก็ส่งผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ จะเห็นได้ว่าปัจจัยหลักๆ ล้วนเกี่ยวเนื่องกับเจ้าฮอร์โมนในร่างกายนี่แหละ แต่สิ่งหนึ่งที่กระทบกับฮอร์โมนให้เสียสมดุลได้ง่ายที่สุด มงลงแล้วลงอีก ก็คือ ความรู้สึก หรือ “ความเครียด” ของเรานั่นเอง
แนะนำให้รู้จัก ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียด ถ้ามีในปริมาณที่เหมาะสมคือดีต่อร่างกาย
- คอร์ติซอล จะมีมากในช่วงเช้า ทำให้ร่างกายสดชื่น มีพลังเพื่อใช้ชีวิตในแต่ละวัน
- เป็นฮอร์โมนที่สำคัญกับร่างกาย มีผลทั้งดี และร้าย ควรมีปริมาณที่เหมาะสม
- ดูแลรักษาความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือด
ก่อนจะเล่าอะไรยืดยาว ขอแนะนำตัวละครหลักก่อน ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดมากที่สุด มีชื่อเรียกว่า คอร์ติซอล (Cortisol) นางถูกสร้างมาจากต่อมหมวกไต ถือได้ว่าเป็นสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา นางจะปรากฏตัวเพื่อช่วยซ่อมแซมเซลล์ในร่างกาย ช่วยเรื่องการอักเสบ จะมีมากในช่วงเช้า ช่วยให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่าในการทำงาน มีพลังงาน ทำนู่นทำนี่ได้ทั้งวัน และจะค่อยๆ ลดปริมาณลงไปเรื่อยๆ จนจบวันเมื่อถึงเวลาเข้านอน เป็นฮอร์โมนที่สำคัญที่ร่างกายทุกคนต้องมี
ความเครียดส่งผลต่อฮอร์โมนคอร์ติซอล หากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดผลกับประจำเดือน
- ถ้ามีคอร์ติซอลมากเกินไป(เครียดแหละ) จะทำให้ร่างกายต้องการน้ำตาลมากขึ้น (หิวแหละ) ทำให้อยากอาหารมากขึ้น (อ้วนแหละ)
- เมื่อได้รับความหวานมากเกินไป จะทำให้มีความเสี่ยงระดับน้ำตาลในเลือดสูงก่อให้เกิดโรคตามมา บางครั้งจะลุกลามไปถึงระบบย่อยอาหาร
- ความจำระยะสั้นจะลดลง การเรียนรู้หรือใช้ชีวิตจะช้าลง เพราะร่างกายไม่มีพลังงานในการใช้ชีวิต
- ที่สำคัญสำหรับสาวๆ มากที่สุด คือ มีผลกับประจำเดือน ทำให้นางมาช้า มาสาย บางรายหายไปนานเลย
ขอเรียก ฮอร์โมนคอร์ติซอล ว่า “ความเครียด” ไปเลยละกันนะ จะได้ไม่งงกัน เรื่องของเรื่องคือ ความเครียดนั้นส่งผลต่อประจำเดือน เพราะความเครียดมีความสามารถพิเศษทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ ถ้าร่างกายเรามีภาวะกดดันหรือวิตกกังวลเมื่อไหร่ จะส่งผลกับการหลั่งฮอร์โมนอีกสองตัวทันที ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน เมื่อฮอร์โมนของเราหลั่งไม่ปกติ เพราะรังไข่ขาดสมดุล โดยส่วนมาก เมื่อเครียด ประจำเดือนก็ดันไม่มา พอไม่มาเรา ก็เครียดหนักกว่าเดิมอีก(โอ๊ยยยยย) ก็ยิ่งส่งผลกระทบเป็นผีเสื้อขยับปีก (butterfly effect) จนอาจทำให้ประจำเดือนขาดรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้นเราจึงต้องรู้เท่าทันสภาพจิตใจ ว่าความเครียดนั้นเป็นตัวการที่ไปรบกวนต่อมใต้สมอง ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดได้ง่าย บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ในช่วงแรกจึงจำเป็นต้องสังเกตุอาการตัวเองอย่างใกล้ชิด
อันตรายที่ไม่ควรมองข้ามจากประจำเดือนที่มาไม่ปกติ
- หากรอบเดือนขาดไปเป็นเวลานานควรไปพบแพทย์
- ควรสังเกต และบันทึกประจำเดือนของตัวเอง เพื่อตรวจสอบความปกติของร่างกาย
- ฮอร์โมนคอร์ติซัล ส่งผลกระทบต่อ ฮอร์โมนเอสโตรเจน เรียกได้ว่า กระทบกันเป็นทอดๆ
เรื่องประจำเดือนขาดไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หากรอบเดือนขาดไปนานๆ จะมีผลเสียต่อร่างกาย คำถามในใจหลายคนคงมีอยู่ว่า แล้วมันจะอันตรายร้ายแรงมากแค่ไหน? แน่นอนว่าส่งผลต่อมดลูก ซึ่งเป็นอวัยวะก่อกำเนิดประจำเดือนโดยตรง หากไม่มีการลอกของผนังแล้ว อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น มีเลือดออกทางช่องคลอดแบบผิดวิสัย และพัฒนาต่อเป็นความเสี่ยง เกิดเป็นมะเร็งมดลูกได้เลย ปัญหาต่อมาคือมีลูกยาก หรืออาจเป็นสิ่งบ่งชี้ของโรคภัยไข้เจ็บที่แฝงอยู่ภายในร่างกายเราได้อีก ส่วนผลต่อเนื่องในระยะยาว คือ เป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำลง ทำให้การดูดซึมแคลเซียมของไตที่ไปสร้างเสริมกระดูกให้แข็งแรงนั่นลดลงไปด้วย ยิ่งอ่านยิ่งเริ่มหนักใจ แต่แน่นอนว่าทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ ก่อนที่เราจะตื่นตูมไปมากกว่านี้ หรือรีบวิ่ง 3×100 ไปหาแพทย์ตรวจภายใน ลองมาเริ่มสังเกตตัวเอง เพื่อเข้าถึงสาเหตุ และที่มาของปัญหากันก่อน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับสภาพจิตใจไม่ให้คิดมากจนเกินไป
วิธีการจัดการกับความเครียด และทำให้คอร์ติซอลมีความสมดุล
- พักผ่อนให้เต็มที่ นอนให้เป็นเวลา และมีคุณภาพ การอดนอนจะเป็นสาเหตุของความเครียดได้ ควรนอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่าอดมื้อกินมื้อ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2-3 วัน เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน (สารแห่งความสุข) ปรับสมดุลให้กับระบบต่างๆ
- สร้างความสุขให้ตัวเองในทุกๆ วัน ยิ้มวันละนิด ยิ้มให้ทั้งตัวเอง และผู้อื่นเพื่อจิตใจที่แจ่มใส
การเริ่มคิดบวกย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่าง การผ่อนคลายความเครียดหรือหากิจกรรมที่ต่างไปจากเดิมก็เป็นอีกหนึ่งทางออกเช่นกัน แน่นอนว่าการทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ จะได้ผลลัพธ์เช่นเดิม แต่ถ้าสาวๆ รู้สึกเครียดบ่อยๆ จนเรื้อรัง ขอแนะนำว่าลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ ดูบ้าง ทำงานหนัก ก็เปลี่ยนมาทำงานน้อยลง ปล่อยวางจากการงานบ้าง ปรับเปลี่ยนจากอริยาบทเดิม นั่งอยู่หน้าคอมนานๆ ก็ลุกมาเดินให้กล้ามเนื้อได้คลายความตึงเครียดบ้าง หรือจากที่นอนดึกมาก ก็ปรับให้นอนเป็นเวลามากขึ้น ตื่นเช้าขึ้น นอนเร็วขึ้น พักผ่อนให้ครบ 6-8 ชม. เพื่อร่างกายที่สดชื่นกว่าเดิม ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลองเล่นกีฬาที่ไม่เคยเล่น โยคะ ว่ายน้ำ เทนนิส ซุมบ้า หรือจะไทเก๊กกับอาม่าก็ลองดู ช่วงนี้มีกีฬาใหม่ๆ หรือคลาสเก๋ๆ ให้ออกไปทดลองเล่นมากมาย หรือจะลองพาน้องหมา น้องแมวไป เดินเล่นที่สวยสาธารณะ ก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดีไม่น้อย และที่สำคัญที่สุด ยาวิเศษที่แก้สารพัดโรค นั่นคือ รอยยิ้ม สร้างรอยยิ้มให้เกิดขึ้นในทุกวัน ลองมองเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัวให้เป็นเรื่องที่มีความสุขได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เราปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ ความเครียดย่อมไกลห่างออกไปอย่างแน่นอน
เรื่องเจ็บป่วยทั้งทางภายนอก และภายในเป็นสิ่งปกติของคนทุกคน แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการหมั่นสังเกตร่างกายตัวเอง หากมีความปกติเพียงเล็กน้อยจะได้แก้ไขทัน สาวๆ ลองนำข้อมูลไปปรับใช้กับตัวเองดูค่ะ หากอาการความเครียดหรือประจำเดือนมาผิดปกติยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อหาสาเหตุของปัญหาสุขภาพว่าเกิดจากอะไร และรับการรักษาอย่างเหมาะสม ดูแลตัวเองให้ดี ใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุกๆ วัน อย่าเครียด หรือกังวลให้มาก รักษาสมดุลของฮอร์โมนกันค่ะ 🙂
อ่านคอนเท้นต์ที่เกี่ยวข้องได้ที่