TOP
h

thewmtd

ฝากไข่ เทรนด์ใหม่ของสาวโสดวัย 30+ ที่อยากมีลูกในอนาคต

ฝากไข่ อีกหนึ่งทางเลือกของสาวโสด ที่อยากจะมีลูก แต่ปัจจุบันยังไม่พร้อม ยังไม่เจอคนที่ใช่ หรือคนมีคู่ที่รู้สึกว่ายังไม่มีความมั่นคงมากพอที่จะให้กำเนิดอีกหนึ่งชีวิต

โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของผู้หญิงจะแข็งแรงและเหมาะที่จะมีลูกในช่วงอายุ 18-28 ปีที่สุด ทว่าในยุคที่ต้องเรียน ต้องทำงาน กว่าจะเจอเนื้อคู่ที่ถูกใจ กว่าจะได้แต่งงาน ก็อาจเลยวัย 30+ ไปแล้ว การ มีลูก จึงยากขึ้น และอาจทำให้เด็กที่คลอดออกมาไม่แข็งแรงเท่าที่ควร

การฝากไข่ไว้ในช่วงที่ร่างกายสมบูรณ์ จึงถือเป็นการเซฟสุขภาพลูกของเราในอนาคตนั่นเอง

ก่อนจะไปถึงส่วนแนะนำการฝากไข่ เราต้องบอกก่อนว่า การฝากไข่มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เริ่มต้นที่ประมาณ 100,000-150,000 บาทต่อครั้ง และที่สำคัญคือ ข้อกฎหมายยังกำหนดให้ต้องผสมไข่กับเชื้ออสุจิจากสามีที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ฉะนั้นสาวโสดที่คิดว่าอยากมีลูก แต่ไม่อยากมีสามี หรือคิดว่าคงจะไม่มีสามีแน่ๆ ทางเลือกนี้ก็คงต้องปัดตกไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ถ้าใครที่กายพร้อม ใจพร้อม เงินในบัญชีพร้อม (แต่อาจจะยังรอสามีในอนาคตอยู่) ก็เลื่อนลงไปอ่านบรรทัดต่อไปได้เลยค่ะ

การฝากไข่คืออะไร?

การฝากไข่ (Eggs Freezing หรือ Oocyte Cryopreservation) เป็นการเก็บรักษาไข่ ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิงไม่ให้เสื่อมไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยนำไข่ที่สภาพดีและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ออกจากรังไข่ มาแช่แข็งในห้องปฏิบัติการด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลว ที่มีอุณหภูมิประมาณ -195 องศาเซลเซียส (Vitrification) ทำให้เซลล์ทุกเซลล์หยุดการทำงานอย่างรวดเร็ว และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมนำไปผสมในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ตัวอ่อนเบบี้ของเรา มีสุขภาพแข็งแรง ตามอายุของไข่ที่แข่แช็งไว้นั่นเอง

การฝากไข่เหมาะกับใคร?

นอกจากประเด็นเรื่องของความพร้อม ความมั่นคง หรือยังหาชายที่ถูกใจไม่เจอแล้ว ก็ยังมีเรื่องของสุขภาพเข้ามาเกี่ยวด้วยค่ะ โดยผู้หญิงที่เหมาะ หรือควรที่จะนำไข่ไปฝาก ได้แก่คนที่…

– กำลังรักษาโรคมะเร็ง หรือมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง
คนในครอบครัวมีประวัติหมดประจำเดือนเร็ว (ช่วงอายุ 47-50 ปี)
– มีปัญหาพันธุกรรมเกี่ยวกับรังไข่
– ต้องเข้ารับการผ่าตัดรังไข่
มีปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์
– ใช้วิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) แล้วไม่ได้ผล

ทั้งนี้ก็ยังรวมถึงสาวๆ ที่ถูกครอบครัว หรือคนรอบข้างกดดันให้รีบมีลูกเร็วๆ แต่ในช่วงวัย 30+ นั้น เราอาจจะกำลังสนุกกับงาน ยังอยากออกไปเผชิญโลกกว้าง ยังอยากมีอิสระ หรือยังอยากเสพความหวานในชีวิตคู่ การ ฝากไข่ จึงเป็นทางเลือกที่จะมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะเรารู้ว่า เราสามารถมีลูกตอนไหนก็ได้ เมื่อเรา (และสามี) พร้อม

อายุเท่าไหร่ถึงควรไปฝากไข่?

คุณหมอหลายท่านแนะนำว่า เราควรฝากไข่ในช่วงอายุ 27-35 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เราเริ่มมีความมั่นคงทางการเงิน และเริ่มมองภาพไปถึงอนาคต ควบคู่กับสุขภาพของไข่ที่มีความแข็งแรง มีคุณภาพดีพอ (ไม่ใช่ดีที่สุด) ที่จะฝากได้ พูดง่ายๆ คือ ไม่เร็วและไม่ช้าจนเกินไปนั่นเองค่ะ

ฝากไข่ ได้นานแค่ไหน?

การฝากไข่ หรือการแช่แข็งไข่ ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้ได้ตลอดไปนะคะ เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการฝากไข่ ประมาณ 1,000-5,000 บาทต่อปี หากเราปล่อยไว้เรื่อยๆ ก็เหมือนเป็นการทิ้งเงินเปล่า ดังนั้นคนที่ต้องการฝากไข่ ต้องถามตัวเองให้ชัดเจนว่า เราต้องการมีลูกในอนาคตจริงๆ หรือไม่ และจะมีสามีที่พร้อมจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในอนาคตรึเปล่า เมื่อมั่นใจแล้วจึงค่อยไปฝาก และกลับมารับไข่อีกครั้งในช่วงไม่เกิน 5-10 ปี

ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?

บางคนแอบกลัวว่า อุ๊ย! ไปตรวจรังไข่ ต้องล้วงมดลูกรึเปล่า? ไม่ถึงขนาดนั้นค่ะ แค่มีการเจาะเลือด วัดความดัน ดูระดับฮอร์โมน และอัลตร้าซาวด์เพื่อดูจำนวนไข่ ไม่มีการล้วงแต่อย่างใด เราสามารถเข้าไปขอคำแนะนำ หรือขอคำปรึกษา เพื่อประเมินความพร้อมจากคุณหมอ เหมือนปรึกษาเรื่องสุขภาพทั่วๆ ไปได้เลยค่ะ

แต่ในช่วงการ ฝากไข่ อาจต้องเตรียมตัวเยอะหน่อย เพราะกระบวนการฝากไข่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 8-10 วัน ระหว่างนั้นเราต้องดูแลสุขภาพตัวเองอย่างเข้มงวด รวมถึงเตรียมรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวน จากการให้ฮอร์โมนกระตุ้นไข่ และใครที่กลัวเข็มก็ต้องทำใจไว้เยอะๆ เลยค่ะ เพราะกระบวนการนี้ต้องฉีดยาหลายเข็ม และหลายครั้งมากๆ

ขั้นตอนการ ฝากไข่

หลังเข้ารับการประเมินว่ารังไข่ของเราสมบูรณ์ ไม่มีโรคทางพันธุกรรมร้ายแรง ไม่มีก้อนหรือซีสต์ในมดลูก พร้อมฝากไข่ได้ ขั้นตอนการฝากไข่จะมีดังนี้…

• เตรียมตัวฉีดยากระตุ้นไข่ :
การฉีดยากระตุ้นไข่ จะเริ่มฉีดในวันที่ 2 ของการมีประจำเดือน ดังนั้นเมื่อประจำเดือนมา ก็ให้ติดต่อคุณหมอที่ดูแล เพื่อตรวจเลือด ตรวจระดับฮอร์โมน และเตรียมความพร้อมในการฉีดยากระตุ้นไข่ได้เลย

• อัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจสอบจำนวนไข่ :
โดยต้องมีไข่ที่พร้อมประมาณ 15-20 ใบ (จากมดลูกทั้ง 2 ข้างรวมกัน) เมื่ออัลตร้าซาวด์แล้วพบว่ามีจำนวนไข่เพียงพอ ก็จะเริ่มกระบวนการฉีดยากระตุ้นไข่ได้ทันที เมื่อฉีดยาไปแล้ว อารมณ์ของเราจะแปรปรวนกว่าปกติ เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ต้องพูดคุยกับคนรอบข้างให้ดีนะคะ

• ฉีดยากระตุ้นไข่ :
เราต้องฉีดยาเพื่อกระตุ้นไข่ ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งละ 2 เข็ม หลังฉีดยาครั้งแรกไปแล้ว อีกประมาณ 5 วัน คุณหมอจะนัดเรากลับมาอัลตร้าซาวด์ และฉีดยากระตุ้นไข่อีก 2 ครั้ง ระหว่างนั้นให้ทานอาหารอ่อนๆ ที่เน้นโปรตีนเป็นหลัก และดื่มน้ำน้อยๆ จะช่วยให้เราไม่มีน้ำหนักเพิ่ม และไม่อืดท้องด้วยค่ะ

• อัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจสอบไข่ :
หลังฉีดยากระตุ้นไข่ไปแล้ว ก็จะต้องกลับมาอัลตร้าซาวด์เพื่อดูขนาดและจำนวนของไข่เรื่อยๆ ถ้าไข่มีการเติบโตดี ก็จะฉีดยาต่อ เมื่อไข่โตจนมีขนาดมากกว่า 18 มม. ก็จะได้เวลาฉีดยาเข็มสุดท้าย เพื่อป้องกันไข่ตก 

• ผ่าตัดเพื่อเก็บไข่ที่สมบูรณ์ :
เมื่อไข่ของเราสมบูรณ์ดีแล้ว คุณหมอก็จะนัดวันมาเก็บไข่ ขั้นตอนนี้จะใช้การผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณมดลูก ใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น และไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้เราด้วยค่ะ เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วสามารถพักฟื้นเล็กน้อย หรือกลับบ้านได้ทันที 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด

• ก่อนผ่าตัด :
งดการดื่มน้ำหรือทานอาหารหลังเที่ยงคืนก่อนเช้าวันผ่าตัด พักผ่อนให้เพียงพอ และทำความสะอาดร่างกาย (โดยเฉพาะตรงน้องสาว) ให้สะอาด

• หลังผ่าตัด :
สามารถพักฟื้นหลังผ่าตัด หรือกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเลยค่ะ แต่ก็ต้องระวังเรื่องการทานอาหารต่อไปอีกประมาณ 5 วัน เพื่อปรับสมดุลให้ร่างกาย

การฝากไข่ นอกจากจะเป็นโอกาสสำหรับสาวๆ ที่ต้องการมีลูกในอนาคตแล้ว ยังเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้หญิงปลดภาระความกดดัน จากการต้องมีครอบครัวในช่วงที่ยังไม่พร้อมอีกด้วย ปัจจุบันนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่มีบริการฝากไข่ สาวๆ คนไหนที่สนใจ สามารถจูงมือครอบครัว หรือคนรัก เข้าไปสอบถามข้อมูลหรือประเมินความพร้อมได้เลยค่ะ

_____________
ข้อมูลเพิ่มเติม : 
มาแช่แข็งไข่ ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตรในอนาคต
ฝากไข่ สำหรับผู้ที่อยากมีลูกในอนาคต
การแช่แข็งตัวอ่อน
Egg Freezing อนาคตกำหนดได้ มีลูกในเวลาที่ใช่

นักเขียนสโลว์ไลฟ์ที่ติดชาเพราะดื่มกาแฟไม่ได้ ติดเกมนิดหน่อย ติดนิยายไม่มาก และชอบใช้วันหยุดไปกับการนอน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save