Frida Kahlo จิตรกรสาวที่เป็นดั่ง Feminist Icon
ฟรีด้า คาห์โล (Frida Kahlo) คือจิตรกรหญิงชาวเม็กซิกัน ที่เป็นดั่งไอคอนของกลุ่มเฟมินิสต์ (Feminist) หญิงสาวที่เผชิญเรื่องราวแสนเจ็บปวดมากมาย จนเธอกล่าวว่า ภาพวาดของเธอ ไม่ใช่ศิลปะแนว Surrealist แต่เป็นเรื่องจริง ที่ฉายจากชีวิตของเธอเอง
หลายคนอาจจะคุ้นชินกับภาพของหญิงสาวผิวเข้ม ที่มีใบหน้าคมคายดุดัน คิ้วที่ดกหนาจนแทบจะเป็นเส้นเดียว และมงกุฏดอกไม้บนผมเปีย ฟรีด้า คาห์โล ถือเป็นศิลปินหญิงที่มีชีวิตอย่าง “เฟมินิสต์” แม้ว่าตัวเธอจะไม่ได้ประกาศว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ก็ตาม
แต่ด้วยการดำเนินชีวิต การยึดมั่นในงานศิลปะ และการเปิดเผยว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวล (Bisexual) อย่างตรงไปตรงมา ก็ทำให้เฟมินิสต์ในยุคนั้น รวมถึงในยุคนี้ ยกย่องว่าเธอเป็นหญิงสาวที่สร้างแรงบันดาลใจ ในการแหกขนบทางเพศอย่างไม่อาจมองข้ามได้
ประเด็นที่น่าสนใจ
จิตรกรสาวที่บาดเจ็บครั้งแล้วครั้งเล่า
ฟรีด้า คาห์โล เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ปี 1907 (แต่เธอใส่ปีเกิดของตัวเองเป็นปี 1910 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการปฏิวัติเม็กซิโก) ชีวิตส่วนใหญ่ของฟรีด้าถูกผูกติดกับเตียงผู้ป่วย เธอป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่ 6 ขวบ พออายุ 18 ก็ประสบอุบัติเหตุ รสบัสที่เธอนั่งชนเข้ากับรถรางขณะเดินทางกลับจากโรงเรียน ส่งผลให้กระดูกเชิงกรานและไหปลาร้าหัก มดลูกได้รับผลกระทบร้ายแรง จนเธอต้องนอนพักฟื้นอยู่ 2 ปีเต็ม โดยไม่สามารถขยับไปไหนได้ รวมถึงต้องละทิ้งความฝัน ในการเป็นแพทย์ไปอย่างน่าปวดใจ
ตลอดเวลานั้น ฟรีด้าไม่สามารถทำอะไรได้เลย พ่อของเธอจึงซื้อสี และพู่กันมาให้เธอวาดภาพ ฟรีด้า เริ่มวาดภาพเหมือนของตัวเอง (ซึ่งหลายคนกล่าวว่า เป็นต้นแบบของการ “เซลฟี่” ในยุคปัจจุบัน) โดยการแขวนกระจกไว้บนเพดานเตียงนอน และนั่นเอง ที่กลายเป็นจุดกำเนิดของศิลปินสาวในเวลาต่อมา
ชีวิตที่ไม่ได้สุขสมหวังในตอนจบ
หากเป็นในนิยาย หลังเรื่องราวร้ายๆ ผ่านพ้น ฟรีด้าคงได้พบเจ้าชาย และมีความสุขกับชีวิตแต่งงาน แต่ไม่เลย ในปี 1929 ฟรีด้าได้แต่งงานกับ ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) จิตรกรชายที่มีผลงานโดดเด่น ในด้านการเสียดสีสังคมและการเมือง ซึ่งสามีของเธอเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้อย่างมาก
แม้ฟรีด้าจะพยายามมองข้ามมาตลอด แต่สุดท้ายก็ต้องถึงจุดแตกหัก เมื่อเธอพบว่าสามีของเธอ เป็นชู้กับน้องสาวแท้ๆ ของตัวเอง เธอหย่ากับเขาในปี 1939 และกลับมาคืนดีกันอีกครั้ง ในปี 1940 แต่ก็แยกกันอยู่คนละบ้าน
จุดยืนแบบ เฟมินิสต์ ที่เป็นตัวของตัวเอง
หลังจากที่ต้องทนช้ำใจกับความเจ้าชู้ของสามี ฟรีด้าก็ประกาศตัวว่าเธอเป็นไบเซ็กชวล ด้วยการหันไปควงทั้งชายหนุ่ม และหญิงสาวมากหน้าหลายตา ซึ่งในยุคที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงค่านิยมของผู้หญิงที่ยังถูกตีกรอบอยู่ การกระทำของฟรีด้าจึงถือว่าเป็นเรื่องอื้อฉาวอย่างที่สุด แต่เธอก็ไม่ได้แคร์ ยังคงมีสัมพันธ์ชู้รักกับทั้งชาย และหญิงต่อไปเรื่อยๆ ตามแต่ใจต้องการ
แต่ที่ดูจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเฟมินิสต์ มากที่สุด ก็คงเป็นด้านสไตล์การแต่งตัว การไว้ขนคิ้วที่ดกหนา รวมถึงไรหนวดบางๆ ที่ไม่ยอมโกน ซึ่งขัดต่อค่านิยมความงามของหญิงสาวในสมัยนั้นอย่างแรง
ฟรีด้า คาห์โล เสียชีวิตในวัย 47 ปี จากร่างกายที่ทรุดโทรมเพราะอาการป่วย รวมถึงการใช้ยาและแอลกฮอลล์ หลังจากนั้นอีก 16 ปี ชื่อของฟรีด้าก็กลับมาโด่งดังอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลเม็กซิโกเริ่มเล็งเห็นคุณค่าในงานศิลปะของเธอ และสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นในบ้านที่มีชื่อว่า บ้านสีน้ำเงิน (The Blue House) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของฟรีด้าเอง
ผลงานของเธอถูกนำมาพูดถึงหลายต่อหลายครั้งในขบวนการเคลื่อนไหวด้านสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ ด้วยภาพวาดที่สื่อถึงเรื่องราวอันแสนเจ็บปวด และการใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเองจนถึงที่สุด
ศิลปะของผู้หญิง จากผู้หญิง
มีหลายคนวิเคราะห์ว่า ผลงานของ ฟรีด้า คาห์โล เป็นการแสดงออกในเชิงเฟมินิสต์ เพราะเธอมักจะวาดภาพของตัวเองในรูปแบบต่างๆ ที่บอกเล่าถึงความเจ็บปวดในฐานะผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นภาพ “Henry Ford Hospital” ที่แสดงถึงความเศร้าที่ต้องแท้งลูก หรือภาพ “Memory the Heart” ที่ฉายอารมณ์เจ็บปวดที่ถูกสามีนอกใจ ซึ่งในสมัยนั้น การที่ศิลปินหญิงวาดภาพแสดงความเจ็บปวดใดๆ ออกมา มักจะถูกมองว่า “บ้า” ในขณะที่ศิลปินชายจะถูกเรียกว่าเป็น “อารมณ์หดหู่ของศิลปิน”
แต่ฟรีด้า กล้าที่จะวาดภาพแสดงความเจ็บปวดของเธอ ในฐานะผู้หญิงออกมาแทบจะทุกผลงาน โดยไม่สนว่าใครจะดูถูกความเป็น “เพศหญิง” ของเธอหรือไม่ คล้ายกับต้องการจะประกาศว่า ผู้หญิง ก็สามารถแสดงความอ่อนแอ และความแข็งแกร่งออกมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องหลบซ่อน
ว่ากันว่า แม้ในช่วงเวลาบั้นปลายอันแสนเจ็บปวด ทั้งจากโรคร้าย อาการป่วย และโรคซึมเศร้า ฟรีด้า ก็ยังรักชีวิตของเธอ ด้วยภาพวาดสุดท้าย “Viva La Vida” ที่มีความหมายว่า “ชีวิตจงเจริญ”
แม้ว่าจะผ่านไปหลายทศวรรษ แต่ฟรีด้า ก็ยังถือว่าเป็นศิลปินหญิงคนสำคัญ ที่มีอิทธิพลทางด้าน เฟมินิสต์ อย่างมาก เพราะถึงแม้ชีวิตของเธอจะไม่ได้สวยหรู และพบกับความเศร้าโศกอยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่เธอก็ยังยืนหยัดสร้างสรรค์งานศิลปะ ในยุคที่ผู้หญิงถูกมองว่าต้องเป็นกุลสตรี ต้องทำหน้าที่ภรรยาที่ดี และงานศิลปะยังถูกแบ่งแยกไว้ให้กับผู้ชาย
_____________
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ จากผู้หญิงสมัยนี้ :
G e n d e r E q u a l i t y ข อ ง ผู้ หญิ ง ส มั ย นี้ คื อ อะ ไร ?
นิ ว – นภัส ส ร กับ บท บาท เจ้า ของ ธุร กิจ แบบ ฉบับ N e w N o r m a l
ป ร า ง – พิมพ์ ภัทร์ กั บ การ ลอง ผิ ด ลอง ถูก จน ใน เจอ สิ่ ง ที่ รัก ใน อา ชีพ A C T I N G C O A C H