ไม่เจ็บไม่จำ ทำไมคนเราทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
คำโบราณที่ว่า ไม่เจ็บไม่จำ ไม่ได้เป็นเพียงสำนวนไว้เสียดสีเอาสะใจเท่านั้น แต่ยังถูกต้องอย่างมากในทางวิทยาศาสตร์ด้วยล่ะ
ลองนึกถึงวันที่เราเจ็บใจกับข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อย ผิดพลาดกับเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แล้วเรื่องนั่นยังตามหลอกหลอนคุณอยู่จนถึงทุกวันนี้ และพร่ำบอกตัวเองว่าข้อผิดพลาดโง่ๆ แบบนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด!
มนุษย์จำเรื่องที่เจ็บปวดได้ดีกว่า
ในทางจิตวิทยา ได้ให้คำอธิบายความรู้สึกนี้ไว้ว่า เมื่อมนุษย์ได้รับรางวัลจากสิ่งที่ไม่คาดฝัน สมมติว่าถูกหวย ร่างกายจะหลั่งโดปามีน (Dopamine) ออกมา สร้างความรู้สึกมีความสุข พึงพอใจ เมื่อได้รางวัลจากสิ่งที่ไม่คาดคิด กลับกันถ้าเราสั่งลาเต้ แล้วได้ลาเต้ โดปามีนจะหลั่งในปริมาณน้อย เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดคิดไว้แล้วว่าจะได้ลาเต้ (ยกเว้นว่าลาเต้แก้วนั้น รสชาติถูกปากเรามากกว่าที่คิด นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
การได้รับรางวัลเมื่อเกิดเรื่องดี ที่ไม่คาดคิด ร่างกายจะหลั่งสารโดปามีน ออกมามากกว่าการเกิดเรื่องดีซึ่งคาดเดาได้ หมายความว่า โดปามีนเยอะเท่าไหร่ ความสุขและความพึงพอใจยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ในขณะเดียวกัน หากเกิดเรื่องแย่ ที่ไม่คาดคิด กระบวนการผลิตโดปามีนจะลดลง
จดจำเป็นบทเรียน จนกว่าจะเจ็บปวดอีกครั้ง
ร่างกายมนุษย์หลั่งสารโดปามีนออกมา กระตุ้นให้สมองตื่นตัวอยู่เสมอเพื่อพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมไม่คุ้นเคย ที่มีแนวโน้มจะเกิดเรื่องไม่คาดคิดได้มาก ร่างกายยิ่งตื่นตัว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากสิ่งที่ไม่คาดคิด ในแต่ละวันของมนุษย์ ในทางกลับกัน เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย คาดเดาได้ง่าย ก็ส่งผลให้ร่างกายงัวเงียได้เช่นกัน
ยิ่งเรื่องราวที่ได้พบเจอ เกิดความคาดหมาย หรือการรับรู้โดยปกติมากเท่าไหร่ สมองจะยิ่งจดจำเป็นบทเรียนได้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น เช่น นายทหารผ่านศึก ตกใจเสียงดังเสมอ สมองและร่างกายรับรู้ว่ามีภัยมา ซึ่งเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ยินเสียงปีน ระเบิด และความรุนแรงที่ผ่านมา แต่ว่าเขาไม่ได้อยู่ท่ามกลางสนามรบอีกต่อไปแล้ว จึงต้องเรียนรู้ใหม่ว่า เสียงดัง ดังกล่าว มีความหมายอย่างอื่นที่ต่างไปจากการรับรู้เดิม
เรียนรู้จากความผิดพลาด
กล่าวได้ว่า มนุษย์เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเท่านั้น เมื่อพบเจอเรื่องราวดีๆ ที่ไม่คาดคิด จะทำให้พึงพอใจเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน เมื่อได้เรียนรู้แล้ว สิ่งที่เคยเป็นเรื่องไม่คาดคิด ก็กลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนกว่าจะพบกับเหตุไม่คาดคิดใหม่ มาทดแทนชุดความคิดเดิมอีกครั้ง
เราอาจได้เรียนรู้ ระวังภัย ในแง่มุมต่างๆ ของชีวิต นับเป็นเรื่องดี ทว่าก็มีอีกแง่หนึ่งที่เป็นข้อเสียของทฤษฎีนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างในเรื่องความสัมพันธ์ เช่น เมื่อวานเผลอพูดถ้อยคำรุนแรง จนผิดใจกับคนรัก ทะเลาะกันใหญ่โต เราก็ได้เรียนรู้และไม่ทำผิดซ้ำอีก แต่ถ้าในกรณี คนรักมอบของขวัญเซอไพรซ์ให้ ในครั้งแรกเกิดเป็นความพึงพอใจมาก โดปามีนหลั่ง ในครั้งต่อๆ เรื่องเหล่านี้กลับกลายเป็นของธรรมดา และอาจทำให้เราต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่เคยทำให้ตื่นเต้นก็กลายเป็นเรื่องน่าเบื่อได้เช่นกัน จุดนี้เอง ที่ทำให้ความผิดพลาด วนกลับมาอีกครั้ง