รู้จัก Domestic Violence ความรุนแรงหลากรูปแบบจากซีรีส์เรื่อง Maid
ขึ้นแท่นเป็นซีรีส์โปรดของหลายๆ คนไปแล้ว สำหรับ Maid (ชีวิตเปื้อนเหงื่อ) ซีรีส์เล่าเรื่อง Domestic Violence จาก Netflix เรื่องราวของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวสุดสตรอง ที่ดัดแปลงมาจากนิยายขายดีของนิวยอร์กไทม์ปี 2019 Maid: Hard Work, Low Pay, and a Mother’s Will to Survive (ซึ่งนิยายก็ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของนักเขียน Stephanie Land อีกที)
ในซีรีส์เรื่องนี้จะถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘อเล็กซ์ แลมป์ลีย์’ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่หันมาทำงานรับจ้างทำความสะอาด หลังจากที่เธอตัดสินใจหนีออกมาจากบ้านของ ‘ฌอน’ สามีที่ติดเหล้าจนทำลายข้าวของในบ้าน และสร้างความบอบช้ำทางจิตใจทำให้เธอตัดสินใจหอบลูกสาววัย 3 ขวบ หนีออกมาจากชีวิตของสามีโดยแทบจะไม่มีเงิน ไม่มีครอบครัวที่วางใจ ไม่มีอาชีพที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้
เรายกให้เป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวได้จริงที่สุด เพราะทำให้เรารู้ว่าความรุนแรงนั้นสามารถมาในรูปแบบที่หลากหลาย มากไปกว่าตบ ตี ทำร้ายร่างกายแบบที่เราเคยเข้าใจ
ประเด็นที่น่าสนใจ
ความรุนแรงในครอบครัว คืออะไร
ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันก่อนว่า #ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร กรมสุขภาพจิตบอกว่า “คือ การทำร้ายร่างกาย จิตใจ บังคับข่มเหง จากบุคคลในครอบครัว อันเกิดมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การติดการพนัน สุรา หรือยาเสพติด ทำให้ก่อความรุนแรง สร้างความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ” มาดูกันว่าความรุนแรงในครอบครัว มีรูปแบบไหนบ้าง?
spoiler alert ! เนื้อหาหลังจากนี้จะมีการเปิดเผลเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ Maid นะคะ
Verbal Abuse : ความรุนแรงในครอบครัวโดยใช้คำพูด
ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์ ดูถูก เหยียดหยาม ทำให้ผู้ฟังรู้สึกด้อยค่า ตะโกน ดุด่าให้หวาดกลัว รวมไปถึงการข่มขู่ว่าจะทำร้าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่อง Maid คือตอนที่ฌอนตะหวาดอเล็กซ์ จนเธอรู้สึกว่าตนกับลูกไม่ปลอดภัย และตัดสินใจหนีออกจากบ้านมา
ความรุนแรงประเภทนี้ถือว่าเป็นความรุนแรงที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด ไม่เพียงแค่กับสามีภรรยา แต่ยังพบได้บ่อยความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูก ซึ่ง Verbal Abuse ส่วนใหญ่จะสามารถพัฒนาไปเป็น Emotional Abuse ที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่ปลอดภัยได้ด้วย
Emotional Abuse : ความรุนแรงทางอารมณ์
เป็นการใช้ความรุนแรงผ่านการพูดหรือกระทำ ที่ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่ปลอดภัย หรือวิตกกังวล เช่น การควบคุม (Manipulate) การปั่นหัว (Gaslighting) การเพิกเฉย หลายครั้งเหยื่อจะไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกทำร้าย รู้ตัวอีกทีก็มีผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง จนเกิดเป็นโรค PTSD อย่างที่อเล็กซ์เจอได้ Emotional Abuse ถือว่าเป็นรูปแบบความรุนแรงที่มาอย่างแยบยล แต่ส่งผลกระทบต่อเหยื่อยาวนานที่สุด และจัดการแก้ปัญหาได้ยากที่สุด
อ่านเรื่องของ การควบคุม (Manipulate) การปั่นหัว (Gaslighting) และวิธีการรับมือเพิ่มเติมได้ที่ https://thewmtd.com/manipulative-relationship/
Financial Abuse : ความรุนแรงทางการเงิน
เป็นรูปแบบความรุนแรงที่หลายคนมักมองข้ามไป เกิดขึ้นได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตัดช่องทางหารายได้ การสร้างภาระค่าใช้จ่าย หนี้สิน ทรัพย์สินมาผูกมัด เช่น ฉันเป็นคนหาเงินให้เธอใช้ เป็นคนใช้หนี้ที่เธอก่อไว้ ความรุนแรงรูปแบบนี้เราอาจจะเห็นได้ชัดในกรณีของพอลล่า แม่อเล็กซ์ที่ปล่อยบ้านตนเองให้คนอื่นเช่า แต่ถูกแฟนใหม่ตัดช่องทางหารายได้ โดยการทำสัญญาที่ให้ผู้เช่าโอนเงินเข้าบัญชีของเขาแทนที่จะเป็นบัญชีของพอลล่าเอง
ซึ่งสิ่งนี่จะทำให้คนที่มีเงินทองมากกว่าจะมีอำนาจในการควบคุม คุกคามอีกฝ่าย ขณะที่เหยื่อก็จะรู้สึกว่าต้องพึ่งพิงเขา เพราะตนไม่มีรายได้ ปลายทางก็คือเหยื่อไม่กล้าเดินออกมาจากวังวนความรุนแรง แม้จะถูกทำร้ายจิตใจหรือถูกทำร้ายร่างกาย
ต่อไป เราจะมาพูดถึงความรุนแรงที่อาจจะไม่มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในซีรีส์เรื่อง Maid แต่เป็นรูปแบบความรุนแรงที่ทุกคนควรทำความรู้จักกันไว้
Sexual Abuse : ความรุนแรงทางเพศ
การใช้อำนาจ ข่มขู่ บีบบังคับ ให้มีเพศสัมพันธ์ โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม นอกจากนี้ยังร่วมไปถึงกิจกรรมทางเพศใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกอับอาย ด้อยค่า หยามเกียรติความเป็นมนุษย์ เจ็บปวด หรือไม่เป็นที่ต้องการ เช่น การแอบถ่าย การปล่อยรูปลับ การแบล็กเมล
Physical Abuse : ความรุนแรงทางร่างกาย
เป็นความรุนแรงที่หลายไม่อยากพบเจอที่สุด เพราะเป็นอันตรายถึงร่างกายหรือชีวิตได้ การใช้ความรุนแรงทางร่างกาย นอกจากการตบ ตี ใช้กำลัง การใช้อาวุธ รวมถึงข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธก็นับเป็น Physical Abuse ได้เช่นกัน
ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่สิ่งที่ #ผู้หญิงสมัยนี้ จะต้องทน หากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัวไม่ว่าจะเรื่องของตัวเองหรือคนอื่น สามารถติดต่อหน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือ เช่น สายด่วน 191 หรือสายด่วน 1300 ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม One Stop Crisis Center (OSCC) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ที่มาข้อมูล https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/report2_11_4.pdf / https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30715
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ จากผู้หญิงสมัยนี้ :
MANIPULATIVE RELATIONSHIP : รู้ ทัน 4 สัญ ญาณ แฟน จอม บงการ ที่ เจอ แล้ว รีบ จัด การ ซะ
ไม่ได้ หมด รัก แต่ หมด ไฟ : 3 สัญญาณ RELATIONSHIP BURNOUT พร้อม วิธี แก้ไข ให้ ไม่ หมด ไฟ ใน ความ สัม พันธ์
HEALTHY RELATIONSHIP : สำรวจ ความ สัม พันธ์ ที่ ดี ต่อใ จ มี ลักษณะ อย่าง ไร ใช่ เรา รึ เปล่า?