หรือว่า COVID-19 ทำฉันเป็น OCD ?
ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ปัจจุบัน ที่ลุกลามเป็นปัญหาระดับโลกแล้ว ก็ยังมีวิธีการรับมือให้คนปฏิบัติตามกันอย่างอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น Social Distancing, การใส่ Mask เมื่อออกจากบ้าน และพฤติกรรมที่สำคัญที่คนทั่วโลกต้องทำ คือ การล้างมือบ่อยๆ
โดยส่วนใหญ่ ภาพความกังวลของ OCD ที่เรามักจะคุ้นเคยที่ปรากฎในหนังบ่อยๆ คือการล้างมือบ่อยๆ ย้ำๆ ซึ่งเกิดจากความคิดที่ว่าโลกนั้นเต็มไปด้วยสิ่งสกปรก มีเชื้อโรคที่พร้อมจะคุกคามสุขภาพและชีวิตเราได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าเป็นก่อนหน้านี้ เราก็คงพูดได้อย่างเต็มปากว่า โลกไม่ได้สกปรก หรือน่ากลัวขนาดนั้น แต่มาถึงวันนี้ที่ COVID-19 ได้ระบาด และมียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั่วโลกแล้ว เราก็คงต้องบอกว่า ความคิดนี้ชักจะถูกต้องซะแล้วสิ
ตอนนี้ หลายคนคงล้างมือกันบ่อยจนสงสัยว่าตัวเองเป็น OCD รึป่าวนะ ?
แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะบางครั้งเราอาจจะแค่กังวลใจเฉยๆ
OCD คืออะไร?
OCD ย่อมาจาก Obsessive-Compulsive Disorder หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ มี 2 อาการ คือ
1. การย้ำคิด (Obsessive)
เกิดความคิด มโนภาพขึ้นมาเอง ทำให้คิดแล้วคิดอีกวนๆซ้ำๆแบบหยุดไม่ได้ แล้วความคิดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไม่ดี ขาดเหตุผล หรือผิดศีลธรรม เมื่อความคิดผุดเข้ามาแบบห้ามไม่ได้จะเกิดความทุกข์ รู้สึกผิด หรือกังวลอย่างมาก เช่น คิดว่ามีเชื้อโรคร้ายแรงอยู่ทุกๆที่ที่สัมผัส, ไม่สบายใจเมื่อเห็นของวางไม่เป็นระเบียบ, คิดไม่ดีเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความรุนแรงต่างๆ เป็นต้น
2. การย้ำทำ (Compulsive)
ทำส่ิงต่างๆย้ำๆซ้ำๆอย่างมากเกินจำเป็น ทำซ้ำจนกว่าจะพอใจ หรือรู้สึกต้องทำตามเกณฑ์บางอย่างที่ตนกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยไม่มีเหตุผล ซึ่งส่วนใหญ่การย้ำทำเป็นการตอบสนองเพื่อลดความกังวลใจจากการย้ำคิดนั่นเอง เช่น คิดว่ามือสกปรกตลอดเวลา จึงต้องล้างมือบ่อยๆ และล้างนานผิดปกติ, ตรวจนับจำนวนย้ำๆซ้ำๆ หรือจัดเรียงสิ่งของให้เป็นระเบียบบ่อยๆ เป็นต้น
แล้วต้องย้ำคิดย้ำทำขนาดไหนจะถึงจะเข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำ?
ถ้าจะเป็น OCD การย้ำคิดย้ำทำจะต้องมากเกินไป ทำให้เสียเวลาในชีวิตไปมาก และกระทบต่อสุขภาพ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน (การเรียน/ การทำงาน) เช่น ล้างมือบ่อยๆ ล้างนานๆจนมือเปื่อย (เพราะกลัวเชื้อโรค) หรือกลับมาเช็คลูกบิดประตูซ้ำๆจนไปทำงานสาย (เพราะคิดว่าลืมล็อค) เป็นต้น
ซึ่ง OCD นี้ โดยส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับความวิตกกังวล เช่นเดียวกับที่เราวิตกกังวลเรื่อง COVID-19 ในขณะนี้ ที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เพราะความกังวล เกิดจากความรู้สึกไม่แน่นอน และไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆได้ หลายๆคน ก็คงจะมีความกังวลที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมต่างๆ เช่น เครียดนอนไม่หลับ รู้สึกผิดกลัวเป็นพาหะไม่กล้าเข้าใกล้คนในบ้าน รวมไปถึงการล้างมือบ่อยๆนั่นเอง
รับมือยังไงดี?
1. ยอมรับและรับรู้ตามความจริง
สถานการณ์ขณะนี้ ทำให้เรากังวลน่ะถูกแล้ว เพราะถ้าเราปฏิเสธ หรือมองว่าความกังวลเป็นสิ่งไม่ดี สมองจะตีความว่า “ความกังวล” เป็นสิ่งคุกคามเรา ทำให้สมองสั่งการ หลั่งสารเคมีเพิ่มความเครียด เพื่อให้เราจัดการกับความกังวลนั้น จึงส่งผลให้เรายิ่งเครียดเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าเรายอมรับอย่างจริงใจ เราก็จะพบว่า เราจะมีสติจัดการกับความกังวลนั้นได้ดีขึ้น
2. เข้าใจว่าสิ่งไหนเราควบคุมไม่ได้ และโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้
COVID-19 นั้นเราคงห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ และห้ามไม่ให้กังวลก็ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นอย่าเสียเวลาห้ามสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ให้ลองมาโฟกัสที่เราสามารถควบคุมตัวเองได้ในแบบของเรา ผ่านการปฏิบัติตาม Guideline ที่กระทรวงสาธารณสุข หรือสถาบันการแพทย์ที่น่าเชื่อถือแนะนำ เพื่อดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดีที่สุด
3. ลดการติดตามข่าว COVID-19 ทั้งวันทั้งคืน
การเสพข่าวมากๆจะยิ่งทำให้เรากังวลหมกมุ่นหนักเข้าไปอีก ให้กำหนดการเสพข่าว 1-2 ครั้ง/วัน และต้องติดตามจากแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลถูกต้อง เชื่อถือได้ด้วยนะ
แนะนำ
- กระทรวงสาธารณสุข
- กรมควบคุมโรค
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรมประชาสัมพันธ์
4. ล้างมือบ่อยๆ ตามความเหมาะสม
ข้อนี้ต้องใช้การพิจารณาความบ่อย ให้อยู่บนความจำเป็น เช่น ถ้ากลับมาจากข้างนอก/ เอามือปิดปากไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ล้างทันที 20 วินาที จบ สะอาดแล้ว อย่าเพิ่มความล้างย้ำๆซ้ำๆ หรือเพิ่มเวลาให้นานขึ้นจนเกินจำเป็น และถ้าอยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ไปไหน ไม่ได้เจอใคร ก็ไม่จำเป็นต้องล้างบ่อยๆ แบบทุก 30 นาที เพราะอย่าลืมว่าเราอยู่บ้าน ในสภาพแวดล้อมเดิม ที่ไม่ได้มีเชื้อใหม่เข้ามาให้สัมผัส
5. พูดคุย ติดต่อกับคนอื่นเหมือนเดิม
ใช้การโทร หรือ Social Media ต่างๆแทนการคุยต่อหน้า เพราะมาตรการ Social Distancing ตอนนี้ ทำให้เราต้องปรับตัว ขาดการพบปะ พูดคุยกับคนอื่น ก็อาจจะก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะฉะนั้น พยายามติดต่อกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรักอยู่เป็นประจำ เราทุกคนต้องการการซับพอร์ตในช่วงเวลาแบบนี้ การพูดคุยก็จะช่วยระบายความกังวลของเราลงได้เช่นกัน
6. หากิจกรรมที่สนใจทำเมื่ออยู่บ้าน
เพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ดึงความสนใจจากความกังวลหมกมุ่น ไปสนใจสิ่งอื่นแทน และถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ลองทำอะไรที่ชอบ หรืออยากทำแต่ไม่ได้ทำสักที ผัดวันประกันพรุ่งมานานแล้ว เวลานี้แหละ เหมาะ ทำเลย!
7. ออกไปข้างนอกได้นะ (ถ้าจำเป็น)
จะเดินไปซื้อของ ออกไปสูดอากาศที่สวนหลังบ้าน แต่เราแค่ต้องทำตามข้อปฎิบัติด้วย ไม่ว่าจะเป็น ใส่หน้ากากป้องกันทุกครั้ง การพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปในที่แออัด การเว้นระยะห่าง 2 เมตรกับผู้อื่น หรือการระมัดระวังตัวเองในเบื้องต้น ให้ปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่นตามสถานการณ์นั้นอย่างเหมาะสม
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่า สถานการณ์ COVID-19 ตอนนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกไปมาก ถึงแม้ตอนนี้สถานการณ์ดูจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็อยากให้เฝ้าระวัง ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติ และลองสังเกตตัวเองว่า ความกังวลใจของเรานี้ได้สร้างพฤติกรรมย้ำคิด ย้ำทำขึ้นมาหรือไม่? ถ้าใช่ แล้วพฤติกรรมเหล่านี้ กระทบต่อสุขภาพหรือการใช้ชีวิต ทำให้เราเกิดทุกข์ใช่หรือไม่?
ถ้าคิดว่าเข้าข่ายเป็นปัญหาแล้ว แนะนำให้พบแพทย์ประเมินดีกว่าจะได้รับมือกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพราะอาการย้ำคิดย้ำทำสามารถหายได้ หรือช่วยให้รับมืออยู่ร่วมกันมันได้ดีขึ้น ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
________________________________________________________________
Reference :
Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders and OCD
Clinical Definition of OCD
How to Manage Coronavirus Anxiety
OCD and Coronavirus Survival Tips
Why the OCD Community Holds the Key to Coping with COVID-19 Anxiety
Coronavirus is a ‘personal nightmare’ for people with OCD and anxiety disorders