วางแผนออมและลงทุน ด้วยเงินเดือน 15K ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งดี!
ประเด็นที่น่าสนใจ
- 1 อยากมี passive income ให้เงินทำงานแทนเรา อย่างเขาบ้าง ติดที่ต้นทุนน้อย จะเริ่มอย่างไรดี? วันนี้เรามาเข้าใจหลักง่ายๆ ในการเก็บเงิน และเตรียมตัวลงทุน ฉบับ frist jobber ดีกว่า
- 2 เก็บเงิน : เก็บก่อน 10% – 20% แล้วค่อยใช้
- 3 เงินสำรองใช้ : เก็บเงิน พอค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน แล้วเริ่มลงทุน
- 4 ลงทุน : รู้จักกองทุนรวม การลงทุนความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนน้อย ไม่ต้องกูรูก็ลงทุนได้
อยากมี passive income ให้เงินทำงานแทนเรา อย่างเขาบ้าง ติดที่ต้นทุนน้อย จะเริ่มอย่างไรดี? วันนี้เรามาเข้าใจหลักง่ายๆ ในการเก็บเงิน และเตรียมตัวลงทุน ฉบับ frist jobber ดีกว่า
ถ้าคุณคิดว่า “โหพี่ เงินเดือนแค่หมื่นห้า จะเอาเงินก้อนจากไหนไป ลงทุน” ใครรู้สึกแบบนี้เราคือเพื่อนกัน การที่เราเงินเดือนไม่สูง จึงยิ่งเป็นเหตุผลที่เราควร “เริ่มตั้งแต่วันนี้” เก็บไม่เยอะ แต่เก็บนานๆ เมื่อเป็นก้อนแล้วจึงเริ่มลงทุน ตอนนั้นแหละ เงินเก็บจะสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้คุณด้วยตัวมันเอง
วิธีการของเราคือ เริ่มจากการเก็บเงิน มีเงินสำรอง แล้วเริ่มลงทุน แต่หากใครมีเวลาศึกษา และพร้อมรับความเสี่ยง จะค่อยๆ ลงทุนกับกองทุนรวมไปเลยก็ย่อมได้ เพราะใช้เงินต้นทุนไม่สูง เพียง 1,000 บาทต่อเดือนก็ซื้อกองทุนได้แล้ว (ซึ่งจะเล่าต่อไปในข้อที่ 3)
เรามาลองเริ่มทีละสเต็ปไปด้วยกัน
*อัปเดทข้อมูล วันที่ 8 ธันวาคม 2020*
เก็บเงิน : เก็บก่อน 10% – 20% แล้วค่อยใช้
ในช่วงวัย 20 หรือเพิ่งเริ่มทำงาน ไปจนถึงช่วง 30 อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงตั้งหลัก เราอาจกำลังช็อคกับการรับมือกับการเป็นผู้ใหญ่ และการ “เก็บเงิน” เพื่อความมั่นคงในชีวิต ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นค่ะ! ยิ่งเริ่มไว ก็จะยิ่งคลายความกังวลของเราได้เร็วขึ้นเท่านั้น
วิธีการที่ง่าย และคลาสสิกที่สุด เพียง หักเงินเก็บ 10% ออกจากเงินเดือน ที่เหลือค่อยใช้
เงินเดือน – 10% (เงินเก็บ) = เงินใช้
เราอาจสร้างวินัย เก็บเงิน ให้ตัวเอง ด้วยการฝากประจำก็ได้ ซึ่งเราจะไม่สามารถถอนออกมาใช้ได้ จนกว่าจะครบกำหนดตามเงื่อนไขของธนาคาร และต้องฝากอย่างต่อเนื่องทุกเดือน
แต่หากเราอยากมีเงินฉุกเฉิน ไว้สำรองใช้ อุ่นใจกว่า ก็ไม่ว่ากัน แต่พึงระลึกไว้เสมอ ว่าเงินส่วนนี้เป็นเงินเก็บ ที่เราจะเอาไปต่อยอดเป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้นหรือมั่นคงขึ้นอีก ยิ่งเร็วยิ่งดี
บางทฤษฎีก็ว่า เราควรซื้อประกันก่อน ค่อยเก็บเงินลงทุน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ชีวิตและการเงิน เช่น UnitLink ที่มัดรวมประกันชีวิตและการลงทุนกองทุนรวมไว้ด้วยกัน แต่ส่วนตัวคิดว่า ถ้าไม่เก็บเงิน แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อประกัน และจ่ายเบี้ยล่ะ อย่างไรก็ตาม ลองศึกษาเพิ่มเติม เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของแต่ละคนนะ!
เงินสำรองใช้ : เก็บเงิน พอค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน แล้วเริ่มลงทุน
ลองประเมินว่าเดือนหนึ่ง เรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ แล้วคูณ 3-6 เข้าไป จะเป็นจำนวนเงินที่เราควรมีนอนก้นบัญชีไว้ ในขณะที่เราเริ่มลงทุน เพื่อความสบายใจ ระหว่างนี้เริ่มศึกษาการลงทุน ที่มีเยอะเยะมากมายจนชวนสับสนไปด้วย
มีใครเคยคิดเหมือนกันบ้างว่า จะฝากประจำเพื่อเอาดอกเบี้ย? จะบอกว่าการฝากประจำไม่นับว่าเป็นการลงทุนที่งอกเงยจนเห็นผลกำไรนะ เพราะมีเรื่องของ “เงินเฟ้อ” คือค่าของเงินลดลง ซึ่งค่าเงินเฟ้อระยะยาว อยู่ที่ 1-3% ต่อปี การฝากประจำ โดยหวังเงินดอกเบี้ยจึงไม่ได้ให้ผลตอบแทนอะไร เพราะให้ดอกเบี้ยสูงสุดอย่างเก่งก็แค่ 2.7%!
หากคิดจะฝากประจำจึง ควรเลือกเจ้าที่ให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ร่วมด้วย และฝากเพื่อหวังจะรักษาวินัยในการเก็บเงิน มากกว่าผลตอบแทน
ลงทุน : รู้จักกองทุนรวม การลงทุนความเสี่ยงต่ำ ต้นทุนน้อย ไม่ต้องกูรูก็ลงทุนได้
พอเก็บเงิน จนมีเงินเย็นใช้ไปอีกหลายเดือน และมองหาการลงทุนที่ตอบโจทย์เราที่สุดไปแล้ว เช่น ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน การเตรียมตัว และชนิดของการลงทุนไว้ อย่างครบถ้วน และเข้าใจง่าย ซึ่งจะขอนำมาย่อยให้ฟังง่ายๆ อีกครั้งตรงนี้
ขั้นตอนการลงทุน
- ตั้งเป้าก่อนลงทุน เช่น ลงทุน ไปเพื่ออะไร เป็นเงินเก็บเพื่อเกษียณ ลดหย่อนภาษี หรือทำกำไร, มีเงินเท่าไหร่/ต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการลงทุน, ระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมาย ระยะสั้น 1,3,5 ปี หรือระยะยาว
- ถามตัวเอง เรายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน
- ทำความเข้าใจ ตัวเลือกในการลงทุน การลงทุนความเสี่ยงต่ำ ย่อมให้ผลตอบแทนต่ำ และการลงทุนความเสี่ยงสูง ย่อมให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งสามารแบ่งเป็นกลุ่ม เรียงตามความเสี่ยงตำ่ ไป สูง ได้ดังนี้
- เงินฝาก
- ตราสารหนี้
- ตราสารทุน
- กองทุนรวมดัชนี (ETF)
- การลงทุนอื่นๆ (อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ) และ กองทุนรวม ซึ่งมีอยู่หลายกอง เป็นได้ทั้งแบบความเสี่ยงต่ำ และความเสี่ยงสูง โดยมีมืออาชีพเป็นผู้บริหารกองทุนให้
“กองทุนรวม” จึงเป็นการลงทุนที่เหมาะกับ ผู้เริ่มต้น ไม่ค่อยมีเวลาอัพเดทข่าว ไม่เก็ตเรื่องการลงทุน มีทุนน้อย ซื้อได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อน หลักหมื่นหลักแสน ก็ได้ เหมาะสำหรับชาวเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างเรา โดยสามารถซื้อได้ด้วยเงินอย่างต่ำ 1,000 บาท ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไป
กองทุนรวม คืออะไร? มีประเภทใดบ้าง?
ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ เราเอาเงินให้มืออาชีพที่เรียกว่า “ผู้จัดการกองทุน” จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งมีมากกว่า 20 แห่ง เป็นผู้นำเงินของเราและคนอื่นๆ รวมเป็นก้อนแล้วนำไปบริหารในการลงทุนกับหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างๆ
ประเภทของกองทุนรวมหลักๆ เรียงจากความเสี่ยงต่ำ ไปสูง ได้ดังนี้
- ความเสี่ยงต่ำ : กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสาส์นหนี้
- ความเสี่ยงปานกลาง : กองทุนรวมผสม กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- ความเสี่ยงสูง : กองทุนรวมหุ้น
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กองทุนรวม โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กองทุนรวม ซื้อยังไง?
อันดับแรก “เปิดพอร์ต” ทำได้ 2 วิธี
- เปิดกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) : ดูข้อมูลของ บลจ. นั้นๆ ที่เราสนใจ เพราะอาจต้องใช้บัญชีธนาคารตามที่กำหนด หรือ ดูว่าธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่แล้ว ว่ามี บลจ. ใดบ้างเปิดให้ซื้อกองทุน สามารถเดินเข้าไปซื้อในธนาคารนั้นๆ ได้เลย
- เปิดกับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) : เป็นเหมือนฮับ (Hub) ในการซื้อกองทุน สามารถซื้อข้าม บลจ. ได้ในจุดเดียว มีหลาย บล. เช่น Finnomena, Tisco
สิ่งที่ต้องใช้ในการเปิดพอร์ต
- สำเนาบัญชีเงินฝาก
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
เมื่อพูดว่าซื้อกองทุนรวม สิ่งที่เราได้คือ หน่วยลงทุน (Unit Trust) เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ จากนั้นผู้จัดการกองทุนจะนำไปบริหารให้ได้ผลตอบแทน แล้วนำมาปันผล ตามสัดส่วนของหน่วยลงทุนที่เรามี
กองทุนรวม ได้ผลตอบแทนเมื่อไหร่? อย่างไร?
- เงินปันผล : มีเฉพาะในกองทุน ที่มีนโยบายปันผล เพราะบางกองทุน มีนโยบาลนำเงินปันผลไปต่อยอดเป็นเงินลงทุนต่อ
- กำไรส่วนเกิน : มาจากการ ซื้อ-ขาย หน่วยลงทุน ที่ได้ส่วนต่างกำไร เช่น เราซื้อหน่วยลงทุนมาในราคา 10 บาท และขายออก เมื่อหน่วยลงทุน มีราคา 20 บาท จึงได้กำไร 10 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้น ศึกษาเงื่อนไขกองทุน ก่อนทำการขาย เพราะอาจจะไม่คุ้มเท่ากับเก็บไว้ในระยะยาวก็ได้
ในแต่ละ บลจ. มีหลายกองทุน ที่มีนโยบายการลงทุนต่างกัน ศึกษาให้รอบคอบ เรามีเงินทุนเท่าไหร่ เราตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร จะซื้อเพื่อผลตอบแทนระยะสั้น หรือเพื่อความมั่นคงระยะยาว ก็พิจารณาให้ถี่ถ้วน เพื่อผลประโยชน์ของเรานะจ๊ะ
แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้วันนี้เลยก็คือ หักเงิน 10% เป็นเงินเก็บ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งดี!