คำศัพท์ส่วนผสมสกินแคร์ ที่สาวๆ ควรรู้ และคำศัพท์ของการดูแลผิวพรรณ
คำศัพท์ส่วนผสมสกินแคร์ ที่สำคัญ ตอบโจทย์กับปัญหา และความต้องการของเราเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องรู้ เนื่องจากในยุค New Normal สำหรับความสวยความงามในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นความสวยแบบไม่ต้องพยายาม เป็นความสวยสายมินิมอล ‘น้อย(ปริมาณ)แต่มาก(คุณภาพ)’ ตื่นมาก็สวยเลย ไม่ต้องเติมแต่งอะไรมาก ก็สามารถบอกทุกคนได้ว่า “อ๋อ.. หน้าดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ” สาวๆ เริ่มหันมาใส่ใจ “New beauty behind mask” มากขึ้น ทำให้สกินแคร์เข้ามาเป็นนางเอกในช่วงนี้ อยู่บ้านจะแต่งหน้าไปไหน อ่ะก็ทาเซรั่ม แปะมาร์กวนไป ไหนจะสิวที่ขึ้นเก่ง ผลลัพธ์มาจากการใส่หน้ากากอนามัย ยิ่งต้องหันมาใส่ใจผิวหน้าเป็นพิเศษ แต่ปัญหาหนักใจของใครหลายคนคือ ใช้ตัวไหนดีละ? เลือกซื้อไม่ถูกเลย แต่ละตัวต่างกันยังไง? เอาล่ะ ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อบิวตี้โปรดักซ์ต่างๆ สาวๆต้องเข้าใจในส่วนผสมก่อน
วันนี้เราเลยรวบรวม คำศัพท์ส่วนผสมสกินแคร์ ที่พบบ่อยและการดูแลผิวที่ควรรู้ มาฝากกัน
คำศัพท์ส่วนผสมสกินแคร์ ที่คุณควรรู้ : เรื่องวิตามินที่น่าสนใจ
Vitamin A
คำศัพท์ส่วนผสมสกินแคร์ คำแรก ขอเสนอ วิตามิน A มักถูกนำไปใช้ในสกินแคร์ในหลายผลิตภัณฑ์ มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องต่อสู้ริ้วรอยเป็นหลัก อนุพันธ์วิตามินเอไม่ว่าจะเป็น Retinol, Retinoic acid และ Retinaldehyde ทำงานได้ดีกับสภาพผิวส่วนใหญ่ ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวเรียบเนียน รูขุมขนกระชับ ลดความหมองคล้ำ และริ้วรอยต่างๆ ซึ่งเราอาจได้ยินชื่อ เรตินอล (Retinol) เป็นส่วนผสมในครีมทาสิว ช่วยลดการผลิตน้ำมันส่วนเกิน จึงช่วยรักษาสิวและลดการอักเสบได้ดี เรตินอลจะทำงานได้ดีที่ pH เท่ากับ 5.5-6 ทั้งในเรื่องลดริ้วรอย จุดด่างดำ ฝ้าฝังลึก เป็นตัวช่วยในการเสริมสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวให้ดูหนาฟูขึ้น ช่วยชะลอวัย ส่วน กรดเรติโนอีก (Retinoic Acid) เป็นสารสกัดที่ได้จากวิตามินเอ ช่วยขจัดเซลผิวเสื่อมสภาพ ลดริ้วรอยให้ตื้นขึ้น
สารในกลุ่ม Retinoid ในรูปแบบทาค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นขนาดความเข้มข้นที่ใส่ในเครื่องสำอางทั่วไป จะน้อยกว่า 1% (แม้จะใส่น้อยกว่า 1% แต่ก็เห็นผลค่ะ) ผลในการเพิ่มความหนาของชั้นผิวหนัง เห็นผลได้ในระยะเวลาไม่กี่วัน ผลในการลดริ้วรอยขนาดเล็กก็เห็นได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนผลในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน อันนี้จะใช้ระยะเวลาตั้งแต่สัปดาห์หนึ่งจนถึงเป็นเดือน ซึ่งบางครั้งอาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวแห้งได้ด้วย เกิดอาการแดง และระคายเคืองได้ จึงแนะนำไม่ควรใช้คู่กับสารที่ช่วยผลัดเซลอย่าง AHA /BHA หรือ วิตามิน C แต่สามารถใช้ร่วมกับตัวที่ให้ความชุ่มชื่นอย่าง Moisturizer Penthanol หรือ Hyaluronic Acid แทน
Vitamin B3
ถ้าพูดถึงฮีโร่กู้ผิวต้องตัวนี้ Niacinamide บางคนพอได้ยินชื่ออาจจะงงๆ ไม่คุ้น แต่พอพูดถึงวิตามินบี 3 จะรู้จักกันเป็นอย่างดี วิตามินบี 3 เป็นส่ิงที่ร่างกายเราผลิตเองได้ มีค่า pH 4.5 ช่วยปกป้องผิวหนัง เสริมสร้างความแข็งแรงชั้นนอกของผิว กระตุ้นการสร้างกรดไขมันและเซราไมด์ ช่วยควบคุมการสร้างเม็ดสีผิว ลดปัญหาสีผิวไม่สม่ำเสมอ จึงมีประสิทธิภาพเรื่องความกระจ่างใส (Whitening) พบบ่อยในสกินแคร์ที่ลดความหมองคล้ำ ลดไขมันจากต่อมผิวหนัง พร้อมยังเร่งการผลัดเซลล์ผิวอย่างอ่อนโยน มีฤทธิ์เป็น Anti-oxidant (ต้านอนุมูลอิสระ) ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจน และอีลาสติน ช่วยเพิ่มความกระชับยืดหยุ่น และความชุ่มชื่นให้แก่ผิวอีกด้วย
Vitamin B5
หากใครมีปัญหาเรื่องผิวแห้งขาดน้ำ ต้องการเติมความชุ่มชื้นให้ผิว วิตามินบี 5 เป็นตัวช่วยที่ดีเลยทีเดียว วิตามินบี 5 หรือกรด Pantothenic และ Panthenol ป้องกันการสูญเสียน้ำในผิว ช่วยให้ผิวแข็งแรง และยังลดการอักเสบ ป้องกันผิวที่ดูโทรมให้ดูสดชื่นขึ้น ดูเอิมอิ่ม เรียบเนียน เราจะรู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งคือ กรดไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) ด้วยความที่มีโมเลกุลใหญ่และเล็ก จึงถูกนำไปเป็นส่วนผสมหลักในเซรั่ม ทำให้เซรั่มสามารถซึมซาบเข้าสู่ชั้นผิวได้อย่างล้ำลึก นอกจากนี้วิตามิน B5 ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นใต้ผิวได้อย่างยาวนาน ให้ผิวสุขภาพดีขึ้น กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เหมาะสำหรับผิวบอบบางระคายเคืองง่ายเป็นพิเศษ
Vitamin C
เชื่อว่าวิตามิน C คงเป็นวิตามินที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีที่สุด พบได้ในผลไม้ที่เราทานเพื่อป้องกันการเป็นหวัด แต่ถ้าในสกินแคร์มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องลดจุดด่างดำและเพิ่มความกระจ่างใส (Whitening) เป็นดาวเด่นในการดูแลผิวที่พบได้บ่อยที่สุด มีแทบจะทุกรูปแบบ ทั้งเซรั่ม ครีม โฟมล้างหน้า สครับผิว มาสก์หน้า สกัดออกมาเป็น กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) หรือกรดผลไม้ ป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน สามารถยับยั้งเอนไซม์ที่การสร้างเม็ดสีเมลานิน ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาผิวคล้ำเสีย ต้านการอักเสบ เพิ่มการสร้างคอลลาเจนและอิลาสตินในชั้นผิวหนังได้ ทำให้ผิวเนียนนุ่ม สามารถลดความแก่ของผิวหน้าจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงแดดได้ (Photoaging)
และอย่าลืมว่าวิตามินซีบริสุทธิ์ มักมีความเปราะบาง และเสื่อมสภาพได้ง่าย ไวต่อออกซิเจนในอากาศ หากเก็บรักษาไม่ถูกวิธี จะถูกออกซิไดซ์กลายเป็นสารที่มีสีเหลืองทำให้รู้สึกไม่น่าใช้ จึงจำเป็นต้องเลือกบรรจุภัณฑ์แบบทึบแสงสีชา ควบคุมอุณหภูมิให้ไม่โดนความร้อน และต้องป้องกันไม่ให้มีอากาศเข้าไป เพื่อคงสภาพของวิตามินให้อยู่ในระดับมีประสิทธิภาพดีที่สุด และข้อแนะนำอีกอย่างสำหรับสาวๆ หากทาสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของวิตามิน C ให้ใช้ควบคู่ครีมกันแดด เพื่อป้องกันวิตามินซีที่จะถูกทำลายเมื่อออกแดด
คำศัพท์ส่วนผสมสกินแคร์ ที่คุณควรรู้ : เรื่องความเป็นกรด-เบส ผลัดเซลล์ผิว
AHA
เอเอชเอ หรือ AHA (Alpha Hydroxy Acid) เป็นตระกูลเดียวกับ BHA ซึ่งมีสรรพคุณเป็นสารเร่งผลัดเซลล์ผิวให้เร็วขึ้น มีฤทธิ์กัดกร่อนผิวหนังชั้นบนสุดให้หลุดออกไป ผิวดูสดใส เปล่งประกายขึ้น เพราะผิวชั้นนอกที่ตายแล้วถูกผลัดให้หลุดลอกไปนั่นเอง ซึ่ง AHA มีกรดไกลโคลิค (Glycolic) เป็นส่วนประกอบหลักที่รู้จักกันดีว่าเป็นกรดจากน้ำตาล สกัดจากอ้อย กรดแลคติก (Lactic) จากนมเปรี้ยว กรดแมนเดอลิก (Mandelic)ได้มาจากอัลมอนด์ และกรดซิตริก (Citric) ได้จากผลไม้ ด้วยโมเลกุลที่เล็กและละลายในน้ำได้ ทำให้แทรกซึมในผิวได้เร็วและลึกที่สุด เข้าไปยับยั้งแบคทีเรีย ทำความสะอาดรูขมขนได้ดี จนในบางครั้งดีเกินไปจนขาดความชุ่มชื้นสำหรับสาวที่มีผิวแห้งมาก
BHA
หลายคนสงสัยว่า บีเอชเอ (Beta Hydroxy Acids) ต่างจาก AHA อย่างไรนั้น ต่างกันตรงที่ BHA เป็นกรดซาลิไซลิค (Salicylic) ที่ได้จากต้นหลิวจีน มีคุณสมบัติช่วยเรื่องการผลัดเซลล์ผิวเหมือนกัน แต่มีเบสเป็นน้ำมัน จะสามารถละลายในไขมันได้ด้วย ดังนั้นตัวนี้จะเข้าไปทำความสะอาดสิ่งตกค้างในรูขุมขนของต่อมไขมัน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับคนผิวมันที่มีปัญหาสิวโดยเฉพาะ ปรับสมดุลทำให้หน้ามันลดลง ช่วยลดการอักเสบ ลดการอุดตัน ควบคุมการเกิดสิวได้ และยังกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ผิวแข็งแรงขึ้น สุขภาพดีขึ้น แต่ไม่เหมาะกับสาวผิวแห้ง เพราะจะยิ่งทำให้น้ำมันบนใบหน้าลดลง และมีข้อควรรระวังเล็กน้อย AHA/BHA ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่ผสมเรตินอล หรือ วิตามินซี เพราะจะยิ่งทำให้ผิวระคายเคืองมากขึ้น โดยเฉพาะผิวบอบบาง หน้าจะเห่อได้ง่ายเลยละ
PHA
ไม่ค่อยคุ้นชื่อกันเลยใช่ไหมล่ะ สำหรับ PHA (Polyhydroxy acid) เป็นกรดน้องใหม่ในกลุ่มผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพอย่างอ่อนโยน สำหรับสาวผิวบอบบางแพ้ง่ายที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากโมเลกุลของกรด PHA มีขนาดที่ใหญ่กว่ากรด AHA และ BHA จึงสามารถทำความสะอาดผิวชั้นบนสุดได้อย่างอ่อนโยนและระคายเคืองน้อยกว่า ยังช่วยปรับสภาพผิวให้เนียนเรียบ และมีโทนสีที่เสมอกัน รวมถึงช่วยคงความชุ่มชื้นไว้ในชั้นผิวขณะขจัดเซลล์ผิวเก่าด้วย ทำให้ใช้ได้กับทุกสภาพผิว พบมากในรูปแบบของ Beauty Routine Skincare เช่น โทนเนอร์ หรือ มาส์ก การผลัดผิวเก่าออกไปในแต่ละวัน ช่วยให้ผิวหน้าเราดูกระจ่างใสขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าผิวเราก็จะอ่อนแอลงเช่นกัน ดังนั้นต้องไม่ลืมทากันแดดเพื่อปกป้องผิวกันด้วยนะสาวๆ
คำศัพท์ส่วนผสมสกินแคร์ ที่คุณควรรู้ : เรื่องการเติมน้ำให้ผิวจากธรรมชาติ
Hyaluronic Acid
กรดไฮยาลูรอน หรือ HA เป็นโมเลกุลที่เรามีอยู่แล้วตามธรรมชาติ หน้าที่หลักคือการเก็บและอุ้มน้ำให้กับผิว คล้ายฟองน้ำที่ดูดซับน้ำไว้ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นทำให้กรดนี้ทำงานช้าลง เราจึงต้องเติม HA เพื่อเติมน้ำให้กับผิว ช่วยปลอบประโลมผิว ช่วยให้ผิวดูอิ่มฟู นุ่ม ชุ่มชื้น และข้อดีอีกอย่างยังช่วยลดริ้วรอยที่มองเห็นชัดให้ดูตื้นและเรียบเนียนมากขึ้น อย่างริ้วรอยรอบดวงตา ซึ่งเป็นส่วนที่บอบบางและเห็นถึงความอิดโรยได้ง่าย หรือในแวดวงศัลยกรรม จะนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อกระตุ้นเติมเต็มร่องลึก
Ceramide
เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ไขมันดีในผิวหนังเราที่เชื่อมผสานเซลล์ให้กระชับนั้นจะทำงานลดลง เซราไมด์ก็เช่นกัน ซึ่งเป็นไขมันดี สฟิงโกไลปิด (Sphingolipid) ที่แทบจะเป็นองค์ประกอบหลักของผิวเรานั้น พบได้ที่ผิวชั้นบนสุด ที่ช่วยให้ผิวกลับมาชุ่มชื้น ดูอิ่มน้ำ สุขภาพดี เปรียบเสมือนตัวเชื่อมให้เคราตินของผิวชั้นบนเรียงตัวกันอย่างมีระเบียบ พร้อมปกป้องผิวให้แข็งแรง มีความยืดหยุ่น ลดการสูญเสียน้ำของผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้นเปล่งปลั่ง ช่วยป้องกันการเกิดจุดด่างดำ หากผิวเกิดการขาดเซราไมด์ จะส่งผลให้ผิวแห้งแตกง่าย เกิดริ้วรอยตีนกา ฝ้า กระ ได้ง่าย ดังนั้นถ้าสาวๆ ไม่อยากเกิดริ้วรอยก่อนวัย ควรเพิ่มเซราไมด์ให้ผิว หาได้ในสกินแคร์กลุ่ม Hydrating ด่วนๆ จ้า
Niacinamide
ส่วนผสมที่เป็นรูปแบบหนึ่งของ วิตามินบี 3 หนึ่งในวิตามินที่ร่างกายและผิวของเราต้องการ มีประโยชน์ต่อผิวที่สามารถช่วยฟื้นฟูผิวได้อย่างครอบคลุม เรียกได้ว่าเคลียร์ทุกปัญหาผิว ไล่ตั้งแต่ช่วยลดริ้วรอยและรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว ช่วยลดอาการแดง ระคายเคืองบนผิว ไปจนถึงช่วยกระตุ้นการผลิตเซราไมด์ (ceramide) ที่ช่วยให้ผิวกระชับและชุ่มชื้น ซึ่งจะส่งผลให้ผิวเรียบเนียนขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนผสมที่ช่วยกระชับรูขุมขนและคุมความมันบนผิว จึงเหมาะเป็นพิเศษสำหรับคนที่มีผิวมันและทุกสภาพผิว สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของ Niacinamide มักมาในรูปแบบของเซรั่มที่มีน้ำเป็นเบสซะส่วนใหญ่ จะอ่อนโยนต่อผิวกว่าเพื่อน เพราะเป็นสารออกฤทธิ์ในสกินแคร์ที่ปราศจากกรดและการระคายเคือง มีความบางเบาและซึมไว จึงถือว่าเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยบูสพลังการต้านอนุมูลอิสระแบบที่ไม่ทิ้งความมันเยิ้มไว้บนผิวระหว่างวัน
5 คำศัพท์ที่เกี่ยวกับการดูแลผิว ที่จะได้ยินกันบ่อยๆ ตลอดเวลา
- null
- Friendly Non-Active Ingredient
หมายถึง ส่วนประกอบอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ออกฤทธิ์และเป็นมิตรกับร่างกาย ซึ่งรองลงมาจากสารออกฤทธิ์หลัก (Active Ingredient)
- Non – Comedogenic
เป็นศัพท์ทางสาขาวิชาโรคผิวหนัง หมายถึง ไม่อุดตันรูขุมขน ถ้าผลิตภัณฑ์ใดระบุว่า Non-comedogenic หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดภาวะรูขุมขนอุดตันได้ ซึ่งมีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดสิว
- Low pH
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ค่า pH เป็นกลาง จะอยู่ที่ pH7 (natural pH) ถ้าค่าต่ำกว่า 7 แสดงความเป็นกรด (acidic pH) pH มีค่าสูงกว่า 7 แสดงความเป็นเบส (alkaline pH) ผิวหนังของคนเรา ค่าปกติจะเป็นกรดนิดๆ อยู่ที่ pH 5.5 ดังนั้น Low pH สภาวะเป็นกรดสูด เป็นค่า pH ที่ทำให้ผิวเสียสมดุล นำไปสู่ผิวอ่อนแอและปัญหาผิวหนังต่างๆ
- Oxidized Sebum
การออกซิไดซ์ซีบัม คือการที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับน้ำมันเคลือบผิว เกิดอนุมูลอิสระมาทำลายผิว ทำให้ผิวหนังเรามันเยิ้มจากน้ำมันส่วนเกิน จะเห็นเป็นสีดำๆ ในรูขุมขน เป็นสาเหตุของการอุดตันที่ต่อมไขมัน และเกิดสิวในที่สุด
- Squalane
อีกส่วนผสมในสกินแคร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการช่วยล็อคความชุ่มชื้นไว้ในผิวที่ชื่อว่า สควาเลน (Squalane) น้ำมันผิวที่อยู่ในสกินแคร์รูทีน เป็นมอยซ์เจอไรเซอร์ที่ดีต่อทุกสภาพผิว สารที่ร่างกายผลิตมาปกป้องผิวเราให้ลื่นและเรียบเนียน เช่น ผิว ผม และเล็บ พบในพืช เช่น มะกอกและรำข้าว แบรนด์เครื่องสำอางนิยมนำมาผ่านกระบวนการ Hydrogenated เพื่อให้ Squlene แปรสภาพเป็นเนื้อสัมผัสที่เบาและเหมาะกับการบำรุงผิวยิ่งขึ้น
ป.ล. หวังว่าสาวๆ จะได้ไอเดียหาสกินแคร์ที่เหมาะกับผิวของตัวเองบ้างแล้ว พลิกดูส่วนประกอบที่แจ้งไว้ข้างขวดก่อน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดนะคะ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสกินแคร์เพิ่มเติม