TOP
h

thewmtd

คิดบวก-toxic

Toxic Positivity คิดบวก จนเป็นพิษ แค่อ่านคำคมเท่ๆ แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้

มองโลกในแง่ดี คิดบวก เป็นเรื่องดี ทุกคนรู้ แต่การพยายามบอกตัวเองให้มองโลกในแง่ดีหรือมองแต่ด้านดีเท่านั้น และตลอดเวลานั้น ส่งผลเสียมากกว่าผลดี และเป็นปัญหาได้เหมือนกันนะ 

ในทางจิตวิทยาเรียกว่าเป็น Toxic Positivity คือการมองแต่ด้านดี คิดบวก ตลอดเวลา กระทั่งปฏิเสธความรู้สึกด้านลบจนกลายเป็นผลเสียในการใช้ชีวิต เพราะมนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาให้มีแค่ความรู้สึกแฮปปี้ มีความสุขเพียงอย่างเดียว การบอกให้ตัวเองมองข้ามความรู้สึกด้านลบ จึงอาจทำให้เราเข้าสู่สภาวะ ปฏิเสธความจริง (denial) และทำให้พลาดการพัฒนาทางความคิดและความรู้สึกได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราคิดบวกมากเกินไป หรือกำลังรับความคิด คิดบวกจนเป็นพิษ จากใครอยู่รึเปล่า? 

สัญญาณ Toxic Positivity

  • ปกปิดความรู้สึกที่แท้จริง 
  • เมื่ออยู่ในสถานการณ์กดดัน เครียด มักจะคิดว่า “ก็ทนๆ ไป”
  • รู้สึกผิด เมื่อตัวเองรู้สึกด้านลบ
  • ซุกความรู้สึกด้านลบที่กวนใจ ด้วยการบอกตัวเองว่า “เออ มันก็เป็นแบบนี้แหละ” 
  • ลดความสำคัญความรู้สึกด้านลบของคนอื่น ด้วยโควทคมๆ
  • ให้ประสบการณ์ของคนอื่นเป็นบรรทัดฐานในการรับมือกับปัญหา “คนอื่นแย่กว่านี้ตั้งเยอะ” 
  • ประนาม หรือไม่เห็นด้วยกับคนที่แสดงความรู้สึกหงุดหงิด โกรธ หรือความรู้สึกด้านลบอื่นๆ  

ผลเสียของการ คิดบวก จนเป็นพิษต่อตัวเอง 

ความเครียด กดดัน อิจฉา เสียใจ หรือแม้แต่ความกลัว ช่วยให้มนุษย์ทำความเข้าใจตัวเองและการใช้ชีวิต เช่น เราเครียดกับทำงาน เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมีความหมายบางอย่างกับเรา งานที่ทำอยู่อาจจะไม่เหมาะกับเรา หรืองานนั้นมีความสำคัญกับเรามาก และอยากทำออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งจะหมายความว่าอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำการพิจารณา และทำความเข้าใจตัวเอง 

ในทางกลับกัน ถ้าเราปฏิเสธความรู้สึกด้านลบไปตั้งแต่แรก บอกตัวเองเสมอว่า “ทนไปก่อน เดี๋ยววันนี้ก็หมดไป” “ไม่ต้องเครียด” หรือปฏิเสธความรู้สึกลบไปเลย จะทำให้ความคิดและความรู้สึกไม่ถูกพัฒนา และสะสมกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากกว่าเดิม 

ผลจากการส่งต่อ Toxic Positivity สู่สังคม

วาทะกรรมที่ว่านี้ มักจะถูกป้อนสู่สังคม โดยคนที่เรียกตัวเองว่า “ไลฟ์โค้ช” 
คนที่บอกว่าสร้างแรงบันดาลใจ ใช้โควทคิดบวก ปาใส่มิตรรักแฟนเพลงที่คอยติดตาม ซึ่งกดให้ความรู้สึกด้านลบสำคัญน้อยลง 
คนที่บอกว่าเหรียญมีสองด้าน (แต่มักจะมองที่ด้านดีเสมอ) 
คนที่บอกว่าอย่าเพิ่งตัดสินคนอื่น หากยังไม่ได้รู้จักเขาจริงๆ (แต่บอกได้แล้วว่าคนนี้เป็นคน “น่ารัก” จากการพบกับเพียงไม่กี่นาที) 
การพยายามสร้างแนวคิดให้มองบวกเท่านั้น จึงเป็นผลเสียทั้งต่อตัวเอง และต่อสังคมด้วยนะ 

ถ้าเลือกมองแต่ด้านดี และด้านดีเท่านั้น ในสถานการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล ในระยะยาวจะทำให้เราสูญเสียทักษะในการพัฒนาอารมณ์ มองข้ามความไม่ยุติธรรม การถูกเอาเปรียบได้ง่ายดาย เช่น มีคนขับรถปาดหน้าเกิดอุบัติเหตุ เราก็คิดไปเองว่า เป็นเพราะเขามีเหตุผลบางอย่าง และปล่อยผ่านไป จนบางครั้งขาดความรู้สึกร่วม หรือความเข้าอกเข้าใจคนที่แสดงความรู้สึกด้านลบ (เช่น ไม่เข้าใจ คนที่โกรธเมื่อมีคนขับรถปาดหน้า ในเมื่อเขาก็เคยโดน แต่ไม่ได้รู้สึกโกรธอะไร)  

และปัญหายิ่งบานปลาย เมื่อมีการส่งต่อ Toxic Positivity ให้คนอื่น เพราะเมื่อขาดความเข้าใจอารมณ์ด้านลบที่คนรอบตัวแสดงออกมา เช่น เพื่อนบ่นว่าช่วงนี้เหนื่อยอ่ะ เครียดจัง เราก็อาจมองไม่เห็น และไม่เข้าใจเพื่อน  ได้แต่บอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก คิดบวกหน่อยสิ มีคนที่แย่กว่านี้อีกนะ”  ทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกห่างเหิน รู้สึกว่าไม่ถูกใส่ใจ

จัดการกับความรู้สึกด้านลบอย่างไร 

คิดบวก toxic positivity
nytime.com

การมองบวกเป็นเหมือนดาบสองคมก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรให้กำลังใจเพื่อน หรือการมองโลกในแง่ดีจะส่งแต่ผลเสียนะ 

เพียงแต่ เราควรเข้าใจว่าไม่มีความรู้สึกไหนดีหมด และไม่มีความรู้สึกไหนแย่หมด เพราะความรู้สึกลบส่งผลให้เกิดความรู้สึกบวก เช่น ความรู้สึกผิด เสียใจ ส่งผลให้เรารู้จักการขอโทษหรือการให้อภัย

เหมือน Sadness ใน Inside Out ไง! หนังที่เล่าเรื่องการทำงาน ของความรู้สึกมนุษย์ได้ดีที่สุด เท่าที่ผู้เขียนเคยดูมา เราได้เรียนรู้ว่า มนุษย์เรามีหลากหลายอารมณ์ และแต่ละอารมณ์นั้นทำงานร่วมกัน และส่งผลต่อกัน Joy ผู้ควบคุมความรู้สึกมีความสุข ดูเหมือนจะเป็นตัวเอง เป็นอารมณ์หลักที่ต้องปกป้องเอาไว้ ในขณะที่ Sadness ผู้ควบคุมอารมณ์เศร้า ทุกข์ ดูจะเป็นภาระ ที่บางครั้งทำให้เรื่องราวแย่ลงกว่าเดิม

แต่สุดท้ายเราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า ในความทรงสำที่สว่างสดใส มีออร่าสีทึมเทา ทาบทับอยู่ และในความทรงจำสีทึมเทา ก่อให้เกิดความสุขสว่างสดใส อย่างที่เราไม่คาดคิด เพราะความทุกข์ ความรู้สึกด้านลบ เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์และความรู้สึกที่ทำให้เราเติบโดนั้นเอง

ดังนั้น เมื่อ จะให้กำลังใจเพื่อน หรือเราเอง ต้องรับมือกับความรู้สึกด้านลบ เราจึงต้องรับความรู้สึกทั้งสองด้าน และ ให้ความสำคัญเท่าๆ กัน เปลี่ยนจากการบอกว่า “ไม่ต้องเครียดหรอก ยิ้มสู้หน่อย” เป็น “เครียดเรื่องอะไร คุยกันได้นะ มีอะไรที่เราช่วยได้บ้าง” อย่ามองเพียงด้านลบ หรือด้านบวกเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้น ต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน อย่าฟังคำตัดสินจากคนอื่น จนทำให้เธอไม่สามารถ “รู้สึก” อย่างที่ควรจะเป็น

สาวช่างฝันในวัยทเว็นตี้ซัมติง เรียนด้านเขียนอ่าน บันทึกเรื่องราวด้วยการสังเกตและบทสนทนา ชอบงานคราฟท์ ปักผ้าได้ พยายามหัดถักนิ้ตติ้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save