
นอกจาก ‘วันทอง สองใจ’ วรรณคดีไทยยังตีตราผู้หญิงคนไหนอีกบ้าง?
ด้วยกระแสละคร วันทอง ทำให้วลี “วันทองสองใจ” ถูกหยิบกลับมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง ในฐานะวลีแห่งการ Slut-Shaming ผู้หญิง เพราะวรรณคดีเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชาย
เพราะในสังคมยุคที่ผู้ชายมีสิทธิ์ผูกขาดในการเขียน ผู้หญิงใน วรรณคดีไทย จึงมักถูกวางบทบาท ให้ต้องดำเนินไปตามมุมมองของคนเขียน หากไม่ใช่ในรูปแบบของผู้หญิงที่เพียบพร้อม เหมาะสม ก็จะถูกยกให้เป็น “ตัวอย่างที่ไม่ดี” และต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้เงาของผู้ชาย (ไม่ 1 คน ก็หลายคน) อยู่เสมอ
ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่วรรณคดีไทยลดทอนคุณค่าของผู้หญิงลง แต่ยังมีนางในวรรณคดีอีกหลายคน ที่ถูกนำเสนอผ่านสายตา “ชายเป็นใหญ่” และกลายเป็นเหยื่อ กลายเป็นผู้ถูกกระทำ ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากสังคม
นางกากี เหยื่อของการ Slut-Shaming

ด้วยรูปโฉมที่งดงาม แถมยังตัวหอม ชนิดที่ใครแตะตัวนางก็จะมีกลิ่นติดไปอีก 7 วัน ทำให้นางกากีต้องเผชิญชะตากรรมตกเป็นของผู้ชายคนแล้วคนเล่า ด้วยความ “จำใจ” ตลอดทั้งเรื่อง
สามีคนที่ 1 :
ท้าวบรมพรหมทัต กษัตริย์ที่นางไม่ได้เลือกเอง
สามีคนที่ 2 :
พญาครุฑ ที่แม้จะถูกตาต้องใจกัน แต่พญาครุฑก็มาอุ้มนางไป โดยไม่ถามความยินยอม และยังกล่าวหาว่านางไม่รักดีอีกด้วย
สามีคนที่ 3 :
คนธรรพ์ ที่ควรจะมาช่วยนาง แต่กลับใช้อุบายบังคับให้นางต้องมีอะไรด้วย หนำซ้ำ ยังเอาเรื่องบนเตียงไปคุยอวด จนนางถูกรังเกียจจากสามีคนที่ 1 และ 2 กลายเป็นหญิง “มากกามใจพาล” ไม่รู้จักพอ
สามีคนที่ 4 :
นายสำเภาที่ช่วยนางตอนถูกลอยแพ แลกกับการต้องยอมมาเป็นเมีย แล้วผู้หญิงคนหนึ่ง ที่กำลังตกระกำลำบาก จะเลือกอะไรได้?
สามีคนที่ 5 :
โจรที่มาปล้นเรือสำเภา และฉุดเอานางไป ซึ่งสุดท้ายโจรกลุ่มนั้นก็เกิดการทะเลาะแตกคอกัน เพราะหัวหน้าโจรไม่ยอมแบ่งนางให้คนอื่น ราวกับนางคือสมบัติ ที่ทุกคนต้องแบ่งปัน
สามีคนที่ 6 :
กษัตริย์ของเมืองไพศาลี ที่นางต้องปกปิดว่าตัวเองผ่านมือชายมาแล้วหลายคน ไม่อย่างนั้นจะถูกรังเกียจ
และแม้แต่ในท้ายที่สุด นางก็ต้องกลับมาเป็นเมียของคนธรรพ์ที่ข่มเหงนางอีกครั้ง พูดได้ว่าตลอดชีวิตของนางกากี คือการต้องทนอยู่กับสามีที่ไม่เคยได้เลือกเอง แต่นางกลับถูก Slut-Shaming ว่ามักมากในกาม ยิ่งกว่านาง วันทอง ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับในสังคม ที่ตีกรอบว่าผู้หญิงไม่ควรหย่า หรือเลิกกับแฟนบ่อยๆ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นสิทธิ์ของผู้หญิงเหมือนกัน
นางแก้วหน้าม้า ผู้ตกอยู่ใต้ค่านิยม Beauty Standard

กรอบความงาม หรือ Beauty Standard ในงานวรรณคดี เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ “ขนบ” ที่ตัวนางต้องสวยสด งดงาม ประหนึ่งดอกไม้แรกแย้ม นางแก้ว หรือแก้วหน้าม้า จึงกลายเป็นตัวละครที่ถูกนำเสนอให้เป็นตัวตลกอยู่เสมอ
เพราะ “ไม่สวย” จึงไม่ได้รับการยอมรับ
การล้อเลียนรูปร่างหน้าตาที่ดูผิดไปจากกรอบ ก็ยังคลาสสิกเสมอใน วรรณคดีไทย นางแก้ว ถูกเรียกว่า “แก้วหน้าม้า” เพราะมีหน้าเหมือนม้า หรือเป็นภาพที่ชาวบ้านมองว่าเหมือน รวมถึงนิสัยที่ราวกับ “ม้าดีดกะโหลก” ซึ่งไม่ตรงกับค่านิยมหญิงสาวในสมัยโบราณ ที่ต้องเรียบร้อย พูดน้อย อ่อนหวาน ทำให้นางแก้ว ถูกสามีและพ่อตารังเกียจ ถึงขั้นให้คำสั่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่างการไปยกเขาพระสุเมรุมาภายใน 7 วัน หรือต้องตั้งครรภ์ในช่วงที่พระปิ่นทองเดินทางไกล
จะหน้าตายังไงก็ได้ แต่สุดท้ายต้องจบ “สวย”
หลังจากเผชิญวิบากกรรมต่างๆ ที่สามีและพ่อตาสรรหามากลั่นแกล้งแล้ว ในตอนจบ นางแก้วก็ได้รับพรให้กลายเป็นสาวงาม เปลี่ยนชื่อเป็น นางมณีรัตนา ได้รับการยอมรับจากพ่อตา และสุขสมหวังกับพระปิ่นทอง
แต่นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า สุดท้ายแล้ว นางก็ต้องมีความสวยตามกรอบ Beauty Standard จึงจะเหมาะสมกับตำแหน่งนางเอกนั่นเอง
นางมัทนา ชะตาชีวิตที่ถูกควบคุมจาก Patriarchy (สังคมชายเป็นใหญ่)

การที่ผู้หญิง ถูกผู้ชายถูกคุกคามเพราะปฏิเสธความรัก คือหนึ่งในอำนาจ ปิตาธิปไตย ที่หล่อหลอมให้ผู้ชายหลายคน เกิดความคิดว่าตัวเองจะสามารถทำอะไรกับผู้หญิงคนหนึ่งก็ได้ เหมือนกับเรื่องราวของ นางมัทนา จากเรื่องมัธนะพาธา (ตำนานดอกกุหลาบ)
ครั้งที่ 1 : ถูกสาป เพราะไม่รับรัก
เริ่มจากเทวดาหนุ่ม นามว่า สุเทษณ์ เกิดถูกใจต้องตานางมัทนา แต่ว่านางไม่เล่นด้วย สุเทษณ์จึงสาปให้นางลงมาเกิดเป็นดอกกุหลาบ และจะกลับเป็นสาวงามได้ เฉพาะคืนจันทร์เพ็ญเท่านั้น
ครั้งที่ 2 : ถูกสั่งประหาร เพราะความหึงหวง
ต่อมานางมัทธาได้พบรักกับท้าวชัยเสน ซึ่งก็สร้างความหึงหวงให้กับมเหสีเอก เพราะในสังคม Patriarchy ที่สามีจะมีภรรยากี่คนก็ไม่ผิด ผู้เป็นเมียหลวง จึงต้องเอาความโกรธเคืองมาลงที่เมียน้อยแทน โดยใส่ร้ายว่านางมัทนาคบชู้ ท้าวชัยเสนเชื่อ ก็สั่งประหารนางทันที
ครั้งที่ 3 : กลายเป็นดอกกุหลาบ เพราะไม่ตอบตกลง
เมื่อนางมัทนาหนีการประหารมาได้ นางก็ไปขอความช่วยเหลือจากสุเทษณ์ ซึ่งเทวดาหนุ่มก็ยื่นข้อเสนอ ให้นางกลับมาบนสวรรค์ แลกกับความรัก และเมื่อนางมัทนาปฏิเสธ สุเทษณ์ก็สาปให้นางกลายเป็นดอกกุหลาบไปตลอดชีวิต
แม้จะเป็นจุดจบอันน่าเศร้า แต่มันอาจจะดีแล้วก็ได้ เพราะหลังจากนี้ นางก็ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย ที่คอยชี้ชะตาเป็นตายให้นางอีกต่อไป
ถึงเรื่องราวเหล่านี้ จะถูกเขียนมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ในสังคมปัจจุบัน ผู้หญิงหลายคนก็ยังถูกตีกรอบ ให้อยู่ใต้ค่านิยมทางเพศแบบนี้อยู่ วรรณคดีไทย อาจจะมีส่วนทำให้ผู้หญิงถูกลดทอนคุณค่า แต่ไม่ได้หมายความว่า มันคือตัวร้ายที่เราต้องกำจัด เราสามารถหยิบเรื่องราวเหล่านี้ มาวิพากษ์วิจารณ์ และใช้มันเป็นแรงบันดาลใจ ว่าผู้หญิง ก็มีสิทธิ์ที่จะสร้างเรื่องราวของพวกเธอเองได้เหมือนกัน
_____________
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ จากผู้หญิงสมัยนี้ :
F r i d a K a h l o จิตร กร สาว ที่ เป็ น ดั่ ง F e m i n i s t I con
จู ดี้ การ์ แลนด์ สาว น้อย จาก The Wizard of Oz: ตำ นาน แห่ง Hollywood กับ เรื่อง ‘จริง’ ที่ ปลาย สาย รุ้ง
ทำ ไม ผู้ ชาย ไม่ ใส่ “ กระ โปรง ” ว่า ด้วย ที่ มา ของ เสื้อ ผ้า และ ความ เท่า เทียม ทาง เพศ